บทคัดย่อ
โครงการการวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานวัตกรรมระบบการผลิตเนื้อโคขุนจากโคนมเพศผู้ตอน สร้างสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงในวิสาหกิจชุมชนเกษตรกร การพัฒนานวัตกรรมการผลิตโคขุนได้ออกแบบกระบวนการผลิต โดยวิเคราะห์สูตรอาหารสัตว์จากวัตถุดิบในท้องถิ่น คุณค่าทางโภชนะ และราคาต่ำเหมาะสมกับความต้องการโภชนะของโคขุนโคนมเพศผู้ตอน เริ่มจากสูตรอาหารระยะก่อนหย่านม ระยะเตรียมขุน และระยะขุน คุณภาพอาหารหมักสำเร็จที่ได้จากกระบวนการหมักทั้งด้านกายภาพและองค์ประกอบทางเคมีอยู่ในเกณฑ์อาหารหมักคุณภาพดีเยี่ยม องค์ความรู้ที่ได้ควรนำไปพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาระบบการผลิตและการจัดการให้อาหารโคขุนเชิงพาณิชย์ การพัฒนาระบบการจัดการให้อาหารโคขุนคุณภาพ ดำเนินงานการทดสอบสูตรอาหารเปรียบเทียบระบบการเลี้ยงโคขุนโคนมสายพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเซี่ยนกับโคขุนลูกผสมสายพันธุ์ชาร์โลเร่ส์ สายพันธุ์ละ 18 ตัว รวม 36 ตัว วางแผนการวิจัยแบบ 2×3 แฟคทอเรียลในบล็อกสมบูรณ์ ปัจจัยที่ 1 คือ พันธุ์สัตว์ (พันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเซี่ยน, ชาร์โลเร่ส์) ปัจจัยที่ 2 คือ ค่าพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้ในสูตรอาหาร 3 ระดับ (2.50, 2.58 และ 2.68 และ 2.50, 2.65 และ 2.82 เมกะแคลอรี่ต่อกิโลกรัมโดยน้ำหนักแห้ง ของสูตรอาหารเลี้ยงขุนระยะต้น และปลาย ตามลำดับ) จัดแบ่งสัตว์ทดลองออกเป็นกลุ่มบล็อคตามสายพันธุ์ อายุ และขนาดน้ำหนักมีชีวิต เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพซาก คุณภาพเนื้อ และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ระยะทดสอบอาหาร 6 เดือน พบว่า สายพันธุ์และสูตรอาหารที่แตกต่างกันมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์โภชนะที่กินได้ โภชนะที่ย่อยได้ ผลผลิตสุดท้ายจากกระบวนการหมักในกระเพาะหมัก สารชีวะเคมีในเลือดของโคขุนระยะท้ายก่อนส่งโรงงานแตกต่างกัน(P<0.05) แต่ไม่ส่งผล(P>0.05)ต่อสมรรถนะทางการเจริญเติบโต(อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อวันช่วง 0.72 ถึง 0.82 กิโลกรัม และน้ำหนักโคมีชีวิตเมื่อส่งโรงงานช่วง 699 ถึง 705 กิโลกรัม) ทั้งนี้โคขุนสายพันธุ์ชาร์โรเล่ส์มีคุณลักษณะซาก ได้แก่ น้ำหนักซากเย็น น้ำหนักซากอุ่น เปอร์เซ็นซาก พื้นที่หน้าตัดเนื้อสัน และความหนาไขมันของเนื้อสันหลังที่ดีกว่าโคนมเพศผู้แตกต่างกัน(P<0.01) แต่ค่าสีแดงของเนื้อ ไขมันในมัดกล้ามเนื้อ ความนุ่มของเนื้อ และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจโคนมเพศผู้ดีกว่าโคขุนลูกผสมชาร์โรเล่ส์แตกต่างกัน(P<0.05) วิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในระดับฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนโคนมเพศผู้มีกำไร ควรส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาโมเดลธุรกิจผลิตภัณฑ์และตลาดเนื้อโคขุนเนื้อนุ่มไขมันน้อยจากโคขุนลูกผสมโคนมเพศผู้ตอน เพื่อการสร้างอาชีพ สร้างรายได้และสร้างอาหารปลอดภัยสู่ไทยแลนด์ 4.0
คำสำคัญ: โคขุน, โคนมเพศผู้, คุณภาพซาก, คุณภาพเนื้อ, อาหารสัตว์