บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวทางในการจัดสรรงบประมาณสำหรับงานวิจัยกลุ่มเรื่องยางพาราที่เหมาะสมกับความต้องการพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งจากการทบทวนงานวิจัยกลุ่มเรื่องยางพาราในอดีตเพื่อวิเคราะห์ถึงแนวโน้มการสนับสนุนงานวิจัย ได้สะท้อนให้เห็นว่าในระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2551 – 2563) มีการจัดสรรงบประมาณจำนวนทั้งหมด 1,705 ล้านบาท สามารถสร้างผลงานวิจัยได้จำนวน 738 โครงการ โดยมุ่งเน้นที่ภาคการผลิตถึงร้อยละ 75 ของงบประมาณการวิจัยในกลุ่มเรื่องยางพาราทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มงานวิจัยพันธุ์ยาง (ร้อยละ 33) นโยบาย (ร้อยละ 24) และการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ (ร้อยละ 24) ซึ่งยังไม่ครอบคลุมงานวิจัยเกี่ยวกับยางพาราทั้งระบบเท่าที่ควร ดังนั้น จึงต้องมีการกำหนดโจทย์การวิจัยและแนวทางในการจัดสรรงบประมาณสำหรับงานวิจัยกลุ่มเรื่องยางพาราที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนผลงานวิจัยและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดกรอบการวิจัยของยางพาราไว้ทั้งหมด 7 กรอบ ได้แก่ 1. พันธุ์ยางและกล้าพันธุ์ยาง 2. การจัดการสวนยางพาราอย่างมีประสิทธิภาพ 3. ปรับปรุงคุณภาพและคุณสมบัติน้ำยาง 4. วิศวกรรม นวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องจักรการดูแลสวนยางและแปรรูป 5. การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ใหม่จากยาง และการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ 6. เศรษฐศาสตร์การเกษตร สังคม การตลาด และการจัดการด้านโลจิสติกส์ และ 7. นโยบาย กฎระเบียบ มาตรฐาน ด้านยางพารา ซึ่งกรอบการวิจัยนี้จะทำให้ได้ผลงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้ประกอบการ ตลอดจน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้และเกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
คำสำคัญ: ยางพารา การวิจัยนโยบายยางพารา แนวทางการวิจัยกลุ่มเรื่องยางพารา งบประมาณการวิจัย