การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเป็นการดำเนินการที่สำคัญในการพัฒนาและยกระดับประเทศให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้สามารถมีความเข้มแข็งมีศักยภาพในการแข่งขันสามารถพึ่งพาตนเองได้ อย่างไรก็ดียังมีปัญหาท้าทายที่สำคัญประการหนึ่งคือ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดไว้เพื่อการแก้ไขปัญหานี้ คือ การเสริมสร้างศักยภาพชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และการสร้างความเข้มแข็งการเงินฐานรากตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้
โดยแผนงานที่สำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จ คือ การสนับสนุนการให้ความรู้ในการบริหารจัดการทางการเงินแก่ชุมชนและครัวเรือน การปรับองค์กรการเงินของชุมชนให้ทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินในระดับหมู่บ้าน ตำบล ที่ทำหน้าที่ทั้งการให้กู้ยืมและการออม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม รวมถึงการจัดตั้งโครงข่ายการเงินฐานรากโดยกำหนดให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสินเป็นแม่ข่ายเพื่อให้เกิดความสำเร็จเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12
ธนาคารจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานของธนาคาร คือ ยุทธศาสตร์ที่ 6 “พัฒนาศักยภาพองค์กรและชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ” โดยหนึ่งในแผนงาน คือพัฒนาองค์กรการเงินชุมชนเพื่อรองรับการเป็นสถาบันการเงินประชาชน สำนักสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและองค์กรการเงินชุมชน (สสอ.) จึงได้จัดทำโครงการเพื่อศึกษา “แนวทางการพัฒนาความเข้มแข็งองค์กรการเงินชุมชน” โดยการรวบรวมข้อมูล แนวคิด การก่อเกิด การจัดตั้งองค์กร การบริหารจัดการตลอดจนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ขององค์กรการเงินชุมชน จากวรรณกรรมและการวิจัยที่เกี่ยวข้องนำมาประกอบกับการศึกษาจากองค์กรการเงินชุมชนที่บริหารกิจการประสบความสำเร็จ มีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองในด้านการเงิน บริหารกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนกิจกรรมทางการเงิน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต จัดสวัสดิการแก่สมาชิก ชุมชนและสังคมได้อย่างครอบคลุม
โดยคาดหวังว่าแนวทางที่ได้ให้ไว้นี้จะเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานสำหรับพนักงานพัฒนาลูกค้าของธนาคาร ผู้นำ/คณะกรรมการองค์กรการเงินชุมชน และผู้สนใจได้เรียนรู้ สามารถนำไปใช้ในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับองค์กรการเงินชุมชน รวมถึงการสนับสนุนและพัฒนาให้องค์กรการเงินชุมชนเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป