บทคัดย่อ
การยกระดับคุณภาพข้าวและการบริหารจัดการระบบการผลิตเป็นหัวใจสำคัญในระบบการผลิตข้าวครบวงจร มีวัตถุประสงค์หลัก คือ พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าข้าว พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวครบวงจรและเชื่อมโยงเครือข่าย และสร้างทางเลือกในการเพิ่มรายได้โดยมีตลาดเป็นตัวนำการผลิต ใช้วิธีการวิจัยแบบผสมผสาน (mixed method research) ในการรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์ปัญหาของชุมชนผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) และ ทำแปลงต้นแบบการผลิตเมล็ดพันธุ์/การผลิตข้าวคุณภาพดี โดยใช้การทดลองแบบ Technology-verification experiment ดำเนินการกับกลุ่มเกษตรกร 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเครือข่ายข้าวชาวนาร่วมใจ จังหวัดปทุมธานี กลุ่มนาแปลงใหญ่ คลองอุดมชลจร จังหวัดฉะเชิงเทรา กลุ่มหัวตะพานโมเดล จังหวัดอำนาจเจริญ กลุ่มข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้จังหวัดร้อยเอ็ด และกลุ่มนาแปลงใหญ่รักษ์ดอนเจดีย์จงหวัดสุพรรณบุรี โดยแต่ละกลุ่มมีความต้องการในการพัฒนาแตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาการผลิตด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต รวมทั้งเชื่อมโยงด้านการตลาดที่มั่นคง ผลการดำเนินงาน พบว่า สามารถแบ่งกลุ่มเกษตรกรตามระบบการผลิตออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่มีการผลิตข้าวเพื่อการแปรสภาพเป็นข้าวกล้องและข้าวสารจำหน่ายเอง ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การผลิตข้าวคุณภาพดีการแปรสภาพเป็นข้าวกล้อง/ข้าวสาร และการจัดหาตลาด ได้แก่ กลุ่มเครือข่าวข้าวชาวนาร่วมใจ กลุ่มนาแปลงใหญ่เพชรทุ่งกุลาร้องไห้ และกลุ่มหัวตะพานโมเดล กลุ่มนี้จะมีตลาดไม่แน่นอน การยกระดับคุณภาพข้าวต้องมุ่งเน้นที่ข้าวกล้อง/ข้าวสาร แนวทางการยกระดับคุณภาพข้าว ประกอบด้วย 3ขั้นตอน ได้แก่ การใช้เมล็ดพันธุ์ดีเพื่อผลิตข้าวคุณภาพดีที่ผ่านมาตรฐาน GAP สำหรับการแปรสภาพที่มีคุณภาพการสีดีจากโรงสีที่ได้รับมาตรฐานGAP และ HACCP เพื่อให้ได้มาตรฐานสินค้าปลอดภัย (Q) 2. กลุ่มที่มีการผลิตข้าวเปลือกจำหน่ายตามคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการ ประกอบด้วย 2ขั้นตอน คือ การผลิตเมล็ดพันธุ์ และการผลิตข้าวคุณภาพดี จำหน่ายเป็นข้าวเปลือกตามคำสั่งซื้อจากผู้ประกอบการ ได้แก่ กลุ่มนาแปลงใหญ่รักษ์ดอนเจดีย์ กลุ่มนาแปลงใหญ่คลองอุดมชลจรกลุ่มนี้จะมีตลาดที่แน่นอน ดังนั้น การยกระดับคุณภาพข้าวต้องมุ่งเน้นไปที่ข้าวเปลือก แนว
ทางการยกระดับคุณภาพข้าว ประกอบด้วย 2ขั้นตอน ได้แก่ การใช้เมล็ดพันธุ์ดีเพื่อผลิตข้าวเปลือกคุณภาพดีตามมาตรฐานที่ผู้ประกอบการกำหนด นอกจากนี้ยังพบว่า การยกระดับคุณภาพสินค้าและการบริหารจัดการระบบการผลิตข้าวแบบครบวงจรด้วยการเสริมสร้างความรู้และสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนทัศนคติผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) และการจัดประชุมกลุ่มย่อย(Focus Group) สามารถเพิ่มความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติในการผลิตและการบริหารจัดการของเกษตรกรได้อย่างดียิ่ง แต่ต้องใช้เวลา และการจัดทำแปลงต้นแบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การผลิตข้าวคุณภาพดี ผ่านการทดลองแบบ Technology-verification experiment เพื่อให้เกษตรกรได้เปรียบเทียบและเรียนรู้ด้วยตัวเองสามารถปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตของเกษตรกรให้ปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตให้เหมาะสมมากขึ้น