เจ้าของข้อมูล :
คุณสมบูรณ์ ศรีสุบัติ , www.technologychaoban.com
สาระสังเขป :
คุณสมบูรณ์ ศรีสุบัติ หรือ ลุงนิล เป็นเกษตรกรต้นแบบ อยู่ที่ตำบลช่องไม้แก้ว อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร ซึ่งพืชผลทางการเกษตรที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นทุเรียน มีมากกว่า 700 ต้น อยู่ในสวนลุงนิล เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัดชุมพรค่อนข้างมาก
ลุงนิล เป็นที่รู้จักในนามของเกษตรกรผู้คิดค้น “เกษตรคอนโดฯ 9 ชั้น” ซึ่งจุดเด่นของลุงนิลคือ การได้รับความสนใจจากผู้ไปศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเกษตรผสมผสานและเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่เน้นใช้พื้นที่ของตนเองที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการปลูกพืชผักสวนครัวต่างๆ และพืชแซม พร้อมกับการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจไปในตัว และนอกจากจุดเด่นของลุงนิลจะอยู่ที่การทำสวนแล้ว ลุงนิลยังเป็นหนึ่งในผู้ที่ดูแลโครงการธนาคารต้นไม้ของจังหวัดชุมพรอีกด้วย
เศรษฐกิจพอเพียง กู้วิกฤตชีวิตลุงนิล
ลุงนิล เผยถึงแนวคิดการทำเกษตรแบบผสมผสาน 9 ชั้น ว่า ในอดีตลุงนิลเคยทำอาชีพค้าขายมาเป็นเวลานาน แล้วก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ด้วยความที่ลุงนิลในตอนนั้น ต้องการที่จะมีรายได้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยความอยากรวย จึงมีความคิดที่สร้างรายได้เพิ่มด้วยการปลูกทุเรียน เนื่องจากคิดว่าทุเรียนน่าจะเป็นพืชที่ปลูกแล้วสร้างรายได้ให้กับลุงนิลเป็นกอบเป็นกำ ช่วงแรกที่เริ่มปลูก ลุงนิลลงทุนปลูกทุเรียน ประมาณ 700 ต้น แต่ด้วยความที่ลุงนิลในช่วงนั้นยังขาดประสบการณ์ทางด้านการจัดสรรพื้นที่ในการทำสวนทุเรียน จึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้การปลูกสวนทุเรียนเกิดสภาวะขาดทุน และลุงนิลก็เกิดมีหนี้สินติดตัวในขณะนั้นอีกร่วม 2 ล้านบาทเลยทีเดียว และเหตุการณ์ในวันนั้นได้ทำให้ลุงนิลท้อแท้ จนถึงขั้นคิดสั้นฆ่าตัวตายเลยทีเดียว แต่นั่นเป็นเพียงแค่อารมณ์และความรู้สึกชั่ววูบเท่านั้น
“ในตอนนั้นทุกอย่างมันเหมือนจะไม่เหลืออะไรแล้ว และด้วยอารมณ์ชั่ววูบในตอนนั้น มันทำให้ผมเคยคิดที่จะทำสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต นั่นก็คือ การฆ่าตัวตาย ในขณะที่กำลังใช้ปืนจ่อหัว ผมก็เห็นลูกชายของผมที่เดินมาและนั่นเลยทำให้ผมเลือกที่จะสู้กับปัญหาต่อไป และในตอนเย็น วันที่ 4 ธันวาคมปีนั้นเอง ผมได้ยินพระราชดำรัสของพระองค์ท่านเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในโทรทัศน์ เท่านั้นเอง ผมนี่ถึงกับน้ำตานองหน้า ก้มลงกราบกับพื้น และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านเป็นล้นพ้น” ลุงนิล กล่าว
ณ วินาทีที่ลุงนิลได้ยินพระราชดำรัสของพระองค์ท่านเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการจุดประกายแห่งความหวัง ทำให้คนที่มืดมนในความคิด ไม่พบทางออกเลยสักทาง ได้มองเห็นแสงสว่างจนมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชีวิต ตอนนั้นลุงนิลกลับมามีสติและคิดว่า หากตนตายไปแล้ว ลูกและครอบครัวจะอยู่อย่างไร คิดได้ดังนั้น จึงได้ยุติความคิดในการจบชีวิตตนเอง และมุ่งมั่นที่จะเดินไปข้างหน้าด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง ลุงนิลจึงเริ่มทำการเกษตรแบบผสมผสาน ดำเนินรอยตามพ่อของแผ่นดินตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
เกษตรคอนโดฯ 9 ชั้น
บนพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 17 ไร่ ลุงนิลทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยการเลี้ยงปลา เลี้ยงหมู และปลูกพืชคอนโดฯ 9 ชั้น ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
ชั้นที่ 1 ใช้พื้นที่ส่วนล่างสุดของพื้นดิน เพื่อทำบ่อน้ำเลี้ยงปลา รวมถึงพืชผักต่างๆ ที่สามารถอาศัยอยู่ในน้ำได้ เช่น ผักกระเฉด ผักบุ้ง บัว ฯลฯ
ชั้นที่ 2 จะเป็นการปลูกพืชคลุมดินจำพวกกลอย มันหอม หรือจะเป็นพืชตระกูลหัวต่างๆ เช่น ขมิ้น กระชาย ฯลฯ
ชั้นที่ 3 ปลูกพืชบนหน้าดิน เพื่อใช้ในการประกอบอาหารในครัวเรือนแทนการใช้เงินซื้อได้ โดยพืชผักประเภทนี้จะได้แก่ พริกขี้หนู ผักเหลียง มะเขือ ฯลฯ
ชั้นที่ 4 จะเน้นการปลูกส้มจี๊ด ที่มีประมาณ 1,000 ต้น สามารถเก็บได้ประมาณ 70 กิโลกรัม ต่อวัน ขายได้ประมาณ กิโลกรัมละ 20-60 บาท ซึ่งราคาก็ขึ้นอยู่กับท้องตลาดเช่นกับผลผลิตอื่นๆ บางครั้งลุงนิลสามารถสร้างรายได้ ได้ประมาณ 2,000 บาท ต่อวัน เลยทีเดียว
ชั้นที่ 5 ปลูกกล้วยเล็บมือนาง 1,000 กอ เก็บรายได้ต่อสัปดาห์ ขายได้ประมาณ 5,000 บาท ต่อสัปดาห์
ชั้นที่ 6 ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ประมาณ 700 ต้น ซึ่งจะคอยเก็บผลผลิตที่ได้ตามฤดูกาล ปีละครั้ง ส่วนรายได้จะขึ้นอยู่กับท้องตลาด ที่คอยกำหนดราคาตลอดเวลา
ชั้นที่ 7 ปลูกพริกไทย ซึ่งเป็นพืชเกาะเกี่ยว กระท้อน ขนุน ซึ่งมีการเก็บผลผลิตหมุนเวียนไปทั้งปี รวมรายได้ ประมาณ 300,000 บาท ต่อปี
ชั้นที่ 8 เป็นส่วนของธนาคารต้นไม้ ประเภทไม้ยืนต้น ประมาณ 1,300 ต้น มีต้นมะฮอกกานี ต้นตะเคียนทอง ต้นจำปาทอง เป็นต้น ซึ่งไม้เศรษฐกิจเหล่านี้ หากมีอายุครบ 20 ปี จะมีมูลค่า ประมาณ 100,000 บาท ต่อต้น ซึ่งต้นไม้เหล่านี้ ลุงนิล กล่าวว่า ตนปลูกไว้ให้เทวดาเลี้ยง หมายความว่า ปลูกไว้แล้วต้นไม้จะโตเองโดยธรรมชาติ
ชั้นที่ 9 ปลูกต้นไม้ยางนา เพื่อถวายแด่ในหลวงเป็นพิเศษ ต้นสูงเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 40-50 เมตร ในสวนของลุงนิลไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่เริ่มต้นทำเกษตรแบบผสมผสาน และได้รับแนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง
ลุงนิล เล่าว่า “ในสวนนี้ไม่มีสารเคมี ไม่มีปุ๋ยแม้แต่เม็ดเดียวเลย มา 17 ปีแล้ว และยาฆ่าหญ้าก็ไม่มีครับ”
การไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมีใดๆ ในสวนมาเป็นเวลานาน กลับพบว่า สภาพดินยิ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าในอดีตที่เคยใช้ปุ๋ยเคมี เพราะการใช้ปุ๋ยเคมีอาจทำให้ได้ผลผลิตมากเป็นที่น่าพอใจ
พืชทั้ง 9 ชั้นนี้ จะอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกัน บ้างก็ให้ความร่มเงาแก่กัน บ้างก็เก็บน้ำและความชื้นให้กัน อยู่และเติบโตไปพร้อมๆ กัน โดยการปลูกใช้แนวคิดนี้ รวมทั้งการจัดการในเรื่องน้ำ เรื่องของแดด และยังรวมถึงการดูแลดินให้สมดุลนั้น จึงทำให้เกิดความหลากหลายและทำให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดและได้ผลผลิตตรงตามที่ต้องการ
อีกทั้งในแปลงเกษตรของลุงนิล มีการเลี้ยงปลา เลี้ยงหมู และเลี้ยงไก่ ซึ่งมูลหมูสามารถนำมาใช้เป็นอาหารปลาได้ ส่วนมูลหมูและมูลไก่ใช้ทำเป็นปุ๋ยให้กับพืชผักสวนครัวต่างๆ ที่ลุงนิลได้ปลูกไว้ในสวน นอกเหนือจากนี้ ยังมีการขุดสระน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำไว้ใช้ในการเกษตร แต่ไม่มีการทำนาในพื้นที่แห่งนี้ เนื่องจากสภาพที่ดินและปัญหาทางแรงงานนั้นไม่มีความเอื้ออำนวย
‘ทุเรียน’
พืชหลักสร้างได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ลุงนิล
ในสวนของลุงนิล ทุเรียนคือสินค้าที่เป็นที่นิยมมากที่สุด สาเหตุที่ทุเรียนจากสวนลุงนิลต่างเป็นที่นิยมนั้นเป็นเพราะกรรมวิธีในการเพาะปลูก ที่ปลูกแบบวิธีธรรมชาติ โดยวิธีการปลูกของลุงนิลคือจะใช้ปุ๋ยที่ผ่านการหมักจากพืช รวมถึงมูลสุกรมาทดแทนเท่ากับเป็นการประหยัดต้นทุนได้ไปในตัว และจะไม่ให้น้ำบ่อยๆ นี่คือเอกลักษณ์จากสวนทุเรียนของลุงนิล
ทั้งนี้ นอกจากการนำทุเรียนไปขายสู่ตลาดแล้ว ลุงนิลยังได้เก็บเอาทุเรียนบางส่วนนำมาแปรรูปเป็นทุเรียนกวนที่มีรสชาติหอมหวาน ปราศจากการปรุงแต่งกลิ่นทุกอย่าง นอกจากทุเรียนที่แปรรูปแล้ว ลุงนิลยังนำพืชผลในสวนที่ปลูกไว้ มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อีกมากมาย เช่น น้ำผึ้งแท้ ยาสมุนไพรลดความดัน สบู่สมุนไพร และอีกมากมาย
“เป้าหมายในชีวิตคือ การอยู่แบบคนที่มีคุณค่า และมีความพอเพียงกับชีวิต” ลุงนิล ยืนยัน
นี่คือ นิยามความพอเพียงของลุงนิล เกษตรกรแบบผสมผสานแห่งบ้านทอน-อม ผู้มีรอยยิ้มเปื้อนใบหน้าและดวงตามีแววแห่งความหวังอยู่เสมอ แสดงให้เห็นถึงความสุขทั้งกายและใจที่แท้จริง บนฐานของความพอเพียง
หากผู้อ่านท่านใดสนใจ อยากจะเรียนรู้วิธีการทำเกษตรคอนโดฯ 9 ชั้น ดั่งสวนของ ลุงนิล หรือ คุณสมบูรณ์ ศรีสุบัติ สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ (087) 466-0596, (087) 914-2142