เจ้าของข้อมูล : ธนกร สดใส/วิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี
สาระสังเขป :
การเริ่มต้นของการออกแบบกระเป๋ากาบกล้วยตานี จากวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี โดยสกุลแทงหยวก สกุลบายศรี เป็นวัฒนประเพณีหรือภูมิปัญญาของท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยมีคนรู้จัก และมีการใช้น้อยลง จึงได้คิดหาแนวทางแปรเปลี่ยนคุณค่าของ “กล้วยตานี” จากต้นทุนที่มีอยู่สามารถเพิ่มคุณค่า มูลค่า และสร้างรายได้หล่อเลี้ยงชุมชนได้ โดยนายธนกร สดใส ใช้ความรู้จากการจบการศึกษาเทคโนโลยีเคมีสิ่งทอกับสิ่งที่เป็นต้นทุนรากเหง้า ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับเครื่องสักการะชั้นสูง แทงหยวกและบายศรี จึงนำมาสู่นวัตกรรมการออกแบบกระเป๋ากาบกล้วยตานีนี้
ความสำคัญของปัญหา : การนำต้นกล้วยมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋าและของใช้ จะต้องเป็นกล้วยตานีที่ปลูกแบบอินทรีย์เท่านั้น ถ้าแปลงกล้วยตานีแปลงไหนมีการใช้สารเคมีจะทำให้สีสันที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ได้แก่ แบคทีเรีย จุลินทรีย์ ด้วง หรือหนอนในการสร้างลวดลายตามธรรมชาติจะเสียหายไป จึงให้ความสำคัญกับการปลูกกล้วยตานีมาก เนื่องจากในขั้นตอนการผลิตกระเป๋าจะไม่มีกระบวนการฟอกย้อม ใช้เพียงการตากแดดธรรมชาติ โดยไม่ใช้สารเคมีในการทำกระบวนการย้อมสี ดังนั้น สีสันและลวดลายที่เกิดขึ้นเป็นลวดลายที่เกิดจากสิ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้น
จุดเด่นนวัตกรรม :
เป็นการจับคู่ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญารากเหง้าของชาวบ้านกับความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนองค์ความรู้ ใช้เวลาในการขับเคลื่อนแบรนด์และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์กระเป๋ากาบกล้วยตานี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากธรรมชาติจริงๆ ไม่มีกระบวนการการใช้สารเคมีตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ โดยมีผู้ที่สนใจทั้งหน่วยงาน/องค์กร สั่งซื้อเป็นของขวัญ/ของฝากจากผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม (CPOT) ของจังหวัดราชบุรี
ปัจจุบัน แบรนด์ตานีสยาม มีการขับเคลื่อนภายใต้วิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี ซึ่งสามารถดูแลหล่อเลี้ยงชุมชนได้ 30 ครอบครัว ซึ่งจะมีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีการกระจายรายได้งานและองค์ความรู้ ส่วนรายได้ที่เป็นต้นน้ำในการปลูกกล้วยตานี 1 ครัวเรือน สามารถปลูกได้ 1 ไร่ มีจำนวน 250 ต้น ทางแบรนด์ตานีสยาม ได้รับซื้อกล้วยตานีมาแปรรูปในราคาต้นละ 50 บาท นั้น สร้างรายได้ประมาณ 12,500 บาทต่อครัวเรือนต่อไร่ เป็นรายได้เสริมที่ดีให้กับสมาชิกที่ปลูกกล้วยตานีในภาคเกษตร ซึ่งภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ครอบครัวที่ต้องการปลูกกล้วยตานีจะมีรายได้เพิ่มเป็น 80 บาท เพราะมีการกระจายตลาดของผลิตภัณฑ์กระเป๋ากาบกล้วยตานีเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
วิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี
ศูนย์ที่เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ส่วนออนไลน์ในเฟซบุ๊กเพจ Tanee Siam