เจ้าของข้อมูล :
ศูนย์เกษตรวิถีเมือง,ผศ.ลือพงษ์ ลือนาม,ดร.มนสินี อรรถวานิช,คุณระพี บุญบุตร ผู้จัดการบริษัท อาทิตย์ เวนติเลเตอร์
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา :
ศูนย์เกษตรวิถีเมือง มาจากแนวคิดความมั่นคงทางด้านอาหาร ข้อจำกัดในการปลูกพืชในเมืองและแนวคิด BCG จึงเกิดเป็นโครงการ ศูนย์เกษตรวิถีเมือง พื้นที่เรียนรู้นวัตกรรมการปลูกพืชในเมืองซึ่งจะเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมและเผยแพร่ความรู้และนวัตกรรมเกี่ยวกับการปลูกพืชในเมืองให้กับประชาชนที่สนใจ โดยเป็นสถานที่กิจกรรมที่จะเชื่อมโยงผู้คนให้เข้ามาใช้พื้นที่และเรียนรู้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริงที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้
โครงการจะนำเสนอรูปแบบการปลูกพืชในเมืองที่มีความเหมาะกับแต่ละพื้นที่ ด้วยการปลูกพืชในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกพืช การวางระบบ ไปจนถึงการจัดการทรัพยากรในโครงการหมุนเวียนนำเอาทรัพยากรมาใช้ใหม่ การนำวัสดุเหลือทิ้งมาเป็นวัสดุทดแทน การใช้พลังงานสะอาดซึ่งจะตอบโจทย์แนวคิด BCG ทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
นอกจากการเป็นพื้นที่เรียนรู้นวัตกรรมการปลูกพืชในเมืองแล้ว ศูนย์เกษตรวิถีเมืองยังเป็นตัวอย่างของการสร้างพื้นที่ผลิตอาหารให้กับคนเมือง ซึ่งจะเป็นแนวทางในการไปปรับใช้ในที่อื่นๆ ต่อไป เพื่อคุณภาพชีวิตของคนเมืองที่ดีและการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน
ผศ.ลือพงษ์ ลือนาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์สังกัดคณะเทคโนโลยีทางการเกษตร สจล. เล่าว่า โครงการนี้เป็นการสร้างศูนย์การเรียนรู้ เกษตรวิถีเมือง โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. ได้รับการรีโนเวตมาจากอาคารเก่าที่เป็นอาคารรกร้าง เพื่อเป็นพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ด้วยแนวคิด Adaptive Reuse โดยใช้อุปกรณ์การเพาะปลูกที่ไม่ซับซ้อน สามารถหาซื้อหรือดัดแปลงได้โดยง่าย
โครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนวัสดุก่อสร้างบางส่วนจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยคัดสรรวัสดุที่เกิดจากแนวคิดการนำกลับมาใช้ และการเพิ่มมูลค่าจากขยะอุตสาหกรรม Recycle Upcycle
คุณระพี บุญบุตร ผู้จัดการบริษัท อาทิตย์ เวนติเลเตอร์ เล่าว่า ทางทีมเราเป็นบริษัทที่มีนวัตกรรม เริ่มต้นจากการระบายอากาศด้วยลูกหมุนระบายอากาศ โดยนำลูกหมุนระบายอากาศมาสร้างเป็นพลังงานให้ผลิตพลังงานออกมาได้ ทางทีม วช. เห็นถึงทางทีมเราที่สามารถเชื่อมโยงนวัตกรรมได้ ได้รับโจทย์ทำยังไงให้ในเมืองสามารถผลิตอาหารได้ ทางทีมเลยนำเสนอ “พื้นที่รกร้างที่อยู่ใน วช. สามารถที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ในการสร้างอาหารได้” เรื่องของความมั่นคงทางด้านอาหาร และการใช้พื้นที่ที่จำกัดสามารถสร้างประโยชน์ได้
ในกรุงเทพมหานครมีพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ค่อนข้างมาก เพียงพื้นที่ตรงนั้นไม่ได้ใหญ่มาก บางคนอาจจะไม่ได้นึกว่าพื้นที่แค่นี้จะนำไปสร้างประโยชน์อะไรได้ จริงๆ แค่พื้นที่ในห้องน้ำ ข้างตู้เสื้อผ้า ก็สามารถปลูกต้นไม้ได้
ขั้นตอนการปลูกผักสลัดในครัวเรือน
- ทำความเข้าใจพื้นที่หรืออาคารที่มีอยู่เพื่อประเมินทิศทางแดดและลม
- ทำความเข้าใจภาวะพื้นฐานที่ผักสลัดต้องการเพื่อจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
- เลือกรูปแบบการปลูกพืชในพื้นที่จำกัด เช่น ปลูกด้วยดินในกระถาง หรือกระบะ บนชั้นปลูก
- เพาะเมล็ด หยอดเมล็ดลงในถาดเพาะหลุมละ 2 เมล็ด แล้วกลบด้วยวัสดุปลูก (พีทมอส)
- เตรียมย้ายต้นกล้า เมื่อต้นกล้าเริ่มมีใบจริง 3-4 ใบ หรือ 15 วัน
- เตรียมวัสดุปลูก ดิน ขุยมะพร้าว แกลบเผา ปุ๋ยคอก ผสมให้เข้ากัน
- นำกาบมะพร้าวสับรองก้นกระถางแล้วจึงย้ายต้นกล้ากลบรอบต้นด้วยวัสดุปลูก
- เก็บเกี่ยวหลังจากย้ายต้นกล้าประมาณ 30 วัน
ประโยชน์จากการปลูกผักสลัดในครัวเรือน
จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในปัจจุบัน และแนวคิดในการสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่เมือง เพื่อให้คนเมืองสามารถสร้างอาหารเองได้ ทั้งการปลูกเพื่อบริโภคหรือการปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นการสร้างรายได้จากพื้นที่ที่มีอยู่พึ่งพาตนเองได้ เพื่อความยั่งยืนของการอยู่อาศัยในพื้นที่เมือง
คุณสมบัติและจุดเด่นของผลงาน :
แนวคิด BCG Economy Model
เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยมุ่งต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง
B (Bio-economy) เศรษฐกิจชีวภาพ การนำความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งเดิมที่มี เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้สารอาหารเพิ่มขึ้น
C (Circular-economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน การนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ โดยปรับการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การนำขยะมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ
G (Green-economy) เศรษฐกิจสีเขียว การพัฒนาที่คำนึงถึงความยั่งยืนการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การควบคุมมลพิษและของเสีย การลงทุนสีเขียว และจัดการงานสีเขียว
เป้าหมายของโครงการนี้คือต้องการสร้างเครือข่าย BCG ของการทำเกษตรในเมือง คนมีพื้นที่น้อยก็สามารถปลูกได้ ผศ.ลือพงษ์ ยังบอกอีกว่า “แต่อยากเสริมให้ว่าพื้นที่แต่ละพื้นที่ แสง อุณหภูมิ ความชื้น และรูปทรงของพื้นที่ไม่เหมือนกัน ถ้าได้นำความรู้จากโมเดลชิ้นนี้มาปรับใช้ อาจจะไม่สำเร็จในครั้งแรก อาจจะมีการปรับใช้ของตัวเอง ก็จะทำให้เกิดความยั่งยืนในการปลูกพืช”
ดร.มนสินี อรรถวานิช คณะสถาปัตยกรรมศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ยังพูดถึงเรื่อง การปลูกผักสลัดกินเองในครัวเรือน เป็นแนวทางในการสร้างอาหารในข้อจำกัดของความเป็นเมือง โดยการนำเอาความรู้และนวัตกรรมทางด้านการเกษตรเข้ามาประยุกต์ใช้ ผลจากสภาพแวดล้อมเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปลูกพืชแบบดั้งเดิมที่ต้องการพื้นที่ราบไม่สามารถทำได้ การปลูกพืชในเมืองจึงมีข้อจำกัด ทั้งในด้านพื้นที่ อาคารและตึกสูงที่บดบังแสงอาทิตย์ไปจนถึงวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่ไม่มีเวลาในการดูแล
การปลูกผักในเมืองแม้จะมีข้อจำกัด แต่ก็สามารถปลูกได้ เพียงแค่มองว่าชนิดผักที่ปลูกต้องการสิ่งแวดล้อมแบบไหน สิ่งที่ผักต้องการ คือเรื่องของแสง ถ้าบ้านไหนแสงไม่ถึงก็สามารถใช้หลอดไฟที่เป็นคลื่นสเปกตัมที่พืชต้องการนำมาใช้ก็ได้ อันดับต่อมาคือเรื่องน้ำ จะให้ทางไฮโดรโปนิกส์ หรือการตั้งเวลาให้น้ำ บางทีคนเมืองไม่ค่อยมีเวลา เรื่องต่อมาคือปุ๋ย จะให้เป็นปุ๋ยเคมีจะใช้แค่ไหนที่ไม่ทำให้เกิดสารตกค้าง หรือปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น
ผลที่คาดว่าจะเกิดจากการนําไปใช้ :
- เพื่อให้คนเมืองสามารถสร้างอาหารเองได้
- เพื่อใช้พื้นที่ที่จำกัดสามารถสร้างประโยชน์ได้
- เพื่อคุณภาพชีวิตของคนเมืองที่ดีและการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน
ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
ศูนย์เกษตรวิถีเมือง ติดต่อในวันและเวลาราชการ วันจันทร์-ศุกร์ 08.30-16.30 น. ณ สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เลขที่ 196 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-579-1370