รู้หรือไม่ว่า ใบสับปะรด วัสดุเหลือทิ้งหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต สามารถนำไปแปรรูปและใช้ประโยชน์ได้มากกว่าที่คิด จะดีแค่ไหนหากเราได้พัฒนาเครื่องมือที่ประสิทธิภาพและหาแนวทางที่เป็นรูปธรรมผลักดันการใช้ประโยชน์เส้นใยสับปะรดให้ครบวงจร เพื่อกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจสามารถนำไปเป็นแนวทางใน
การผลิตเชิงพาณิชย์ได้
เพราะเส้นใยเซลลูโลสที่ได้จากใบสับปะรดสามารถนำมาผลิตเป็นเส้นใยธรรมชาติป้อนให้แก่อุตสาหกรรมสิ่งทอและสิ่งทอเทคนิคได้ สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยสำหรับชุดโครงการวิจัยนวัตกรรมการผลิตเส้นใยและการใช้ประโยชน์เศษเหลือทิ้งจากใบสับปะรดอย่างครบวงจร ประกอบด้วย 4 โครงการย่อย ที่มุ่งเน้นพัฒนาเครื่องขูดเส้นใยอัตโนมัติและเครื่องสลัดเส้นใยที่มีคุณภาพทดแทนเครื่องขูดเส้นใยแบบมือที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน พัฒนาการใช้ประโยชน์เส้นใยสับปะรดเป็นผลิตภัณฑ์ดูดซับเสียงและฉนวนกันความร้อนภายในอาคาร ทดแทนการใช้เส้นใยประเภทเส้นใยแก้ว หรือใยหินได้ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากเส้นใยสับปะรด เพื่อใช้เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายอยู่ในตลาด กรรมวิธีการผลิตกระดาษหัตถกรรมจากเส้นใยใบสับปะรด เพื่อการผลิตภาชนะบรรจุที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ และจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะสัณฐานวิทยาและสมบัติทางเคมีของเส้นใยสับปะรดสายพันธุ์ปัตตาเวียจากแหล่งเพาะปลูกต่างๆ ของประเทศไทย เพื่อการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิคและกระดาษ และศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้กากเศษใบเหลือทิ้งจากกระบวนการขูดหรือตีเส้นใยเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านอาหารสัตว์
ผลสำเร็จของชุดโครงการวิจัยนี้ ทำให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายเส้นใยใบสับปะรดรวมไปถึงกากเหลือทิ้งจากการขูดเส้นใยให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิค อุตสาหกรรมกระดาษ และอาหารสัตว์ต่อไป นอกจากนี้ฐานข้อมูลที่ได้ยังสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ต่อไป ทำให้เศษเหลือทิ้งที่แทบจะไร้ราคา กลายเป็นวัตถุดิบที่มีค่าในเชิงอุตสาหกรรม ทำให้แทบทุกส่วนของผลผลิตทางการเกษตรถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างครบวงจร
สนใจรายละเอียดโครงการวิจัย ติดต่อ : สำนักสนับสนุนงานวิจัย 02-579-7435 ต่อ 1203 กลุ่มพืชสวน