ค้นหา

การสร้างมูลค่าเพิ่มของมันสำปะหลังชนิดหวาน(sweet cassava)

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เข้าชม 1,165 ครั้ง

นักวิจัย : พรรณญาฎา ฉายศรีสุริยศม, สกล ฉายศรี, กิ่งกานท์ พานิชนอก และชัยรัตน์ คำหา

ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา :

มันสำปะหลังชนิดหวาน(sweet cassava) มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ปลอดภัยจากสารก่อมะเร็ง ใช้ทำของขบเคี้ยว ทดแทนมันฝรั่งที่มีราคาสูง ทำแป้งไร้กลูเดล(gluten free flour) และทดแทนแป้งข้าวสาลี สถานีวิจัยลพบุรี มก. ได้พัฒนาพันธุ์/สายพันธ์ุมันสำปะหลังชนิดหวานเพื่อเป็นทางเลือกในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และแก้ไขปัญหาการส่งออกในรูปของมันเส้นและ native starch ที่ลดลง

มันสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 1 พันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 และพันธุ์เกษตรศาสตร์ 3 สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งใบและหัว โดยใบใช้เป็นอาหารสัตว์และเป็นแหล่งโปรตีนเสริมให้กับสัตว์เลี้ยง ส่วนหัวสดใช้แปรรูปเป็นอาหารคาวหวาน ส่งจำหน่ายให้กับตลาดสด โรงงานแปรรูปเป็นอาหารว่าง(snack) โรงงานมันเส้น/มันอัดเม็ด และส่งจำหน่ายและพัฒนาในรูปแบบแป้งฟลาวคุณภาพสูง เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังชนิดหวานสายพันธุ์ของสถานีวิจัยลพบุรี มก. จึงเสมือนมีธนาคารใต้ดินที่เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรต และโปรตีนไว้ใช้เป็นประโยชน์ในครัวเรือนตลอดปี เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม(ฺBCG Model)

จุดเด่นนวัตกรรม :

“พันธุ์เกษตรศาสตร์ 1” เป็นพันธุ์มันสำปะหลังที่สามารถปรับตัวได้ดีต่อสภาพแวดล้อม ทนต่อสภาวะฝนทิ้งช่วงและตกหนักเป็นระยะเวลานาน ทนต่อวัชพืช ในช่วงที่หัวมันสำปะหลังมีอายุ 6-8 เดือนจะเหมาะสมที่สุดสำหรับการรับประทาน หัวมันสำปะหลังนำมาแปรรูปเป็นอาหารคาวหวาน หรือส่งจำหน่ายในรูปแบบของหัวมันสำหรับรับประทาน ส่งจำหน่ายโรงงานแปรรูปเป็นอาหารว่าง เช่น ชิพ เฟรนซ์ฟรายส์ หัวมันสำปะหลังอายุ 8 เดือนขึ้นไปสามารถส่งจำหน่ายเป็นอาหารสัตว์ ผลิตเป็นมันเส้นและมันอัดเม็ด โดยพันธุ์เกษตรศาสตร์ 1 ให้ผลผลิตหัวสดเฉลี่ย 5.4 ตันต่อไร่ ปริมาณแป้งในหัวสดเฉลี่ย 30.2 เปอร์เซ็นต์

“พันธ์ุเกษตรศาสตร์ 2” เป็นพันธุ์มันสำปะหลังที่มีการเจริญเติบโตเร็ว ใบและต้นอ่อนใช้เป็นอาหารสัตว์ในรูปแบบอาหารหมัก อัดเม็ด มีคุณภาพการรับประทานที่ดี หัวสดสามารถนำมารับประทานได้ตั้งแต่ 6-10 เดือน น้ำหนักหัวสดเฉลี่ย 5 ตันต่อไร่ ปริมาณแป้งในหัวสดเฉลี่ย 24-26 เปอร์เซ็นต์

“พันธ์ุเกษตรศาสตร์ 3” เป็นพันธุ์มันสำปะหลัง ที่สามารถปรับตัวได้ดีต่อสภาพแวดล้อม ทนแล้ง ทนหัวเน่า มีคุณภาพการรับประทานที่ดี สามารถนำหัวสดมารับทานได้ตั้งแต่ 6-10 เดือน มีเนื้อสัมผัสของเม็ดแป้งที่เหนียวหนึบนุ่มเนียนเหมาะกับการแปรรูปเป็นอาหารสำหรับการบริโภคในครัวเรือน เช่น ไอศครีมท็อปปิ้งสวีทคาสซาวา คุกกี้ เม็ดขนุน ทอดมัน มันทิพย์ ข้าวเกรียบ เป็นต้น สามารถส่งจำหน่ายหัวสดเพื่อผลิตแป้งฟลาวคุณภาพสูง น้ำหนักหัวสดเฉลี่ย 5 ตันต่อไร่ ปริมาณแป้งในหัวสดเฉลี่ย 30.4 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ : สถานีวิจัยลพบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ : 061-4189557 อีเมล์ : [email protected]

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.facebook.com/kuservice.ku.ac.th/?locale=th_TH