นักวิจัย :
ดร. ภุชงค์ ทับทอง, ดร. ไพโรจน์ จิตรธรรม และคณะ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา :
ฟาร์มโคนมในประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 95 นิยมเลี้ยงโคนมแบบ ‘ผูกยืนโรง’ โดยแม่โคแต่ละตัวจะถูกผูกให้ยืนอยู่ในซองภายในโรงเรือนเนื่องด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ ขณะที่พื้นคอกส่วนใหญ่เป็นพื้นปูนซีเมนต์ เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลทำความสะอาด หากแต่การเลี้ยงโคนมบนพื้นปูนมักก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพโคนมอย่างมาก เนื่องจากโคนมมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยมากกว่า 500 กิโลกรัม แรงกดทับของน้ำหนักตัวต่อพื้นปูนทำให้เกิดการบาดเจ็บ อีกทั้งพื้นปูนเมื่อเวลาโดนน้ำยังลื่นง่าย เสี่ยงต่อการล้ม ทำให้โคนมพิการ และไม่สามารถผลิตน้ำนมได้อย่างมีคุณภาพ สร้างความเสียหายอย่างมากให้แก่เกษตรกร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงพัฒนา “แผ่นยางพาราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับปูพื้นคอกปศุสัตว์” เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของโคนม และลดผลกระทบการปนเปื้อนสารเคมีต่อสิ่งแวดล้อม
จุดเด่นนวัตกรรม :
- แผ่นยางมีความทนทานรับน้ำหนักโคนมได้ดี ไม่เกิดการฉีกขาด หรือเสียรูปได้ง่าย มีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 2 ปี
- การปูแผ่นยางช่วยลดอาการบาดเจ็บของแม่โคนมได้อย่างมีประสิทธิผล เมื่อเทียบกับกลุ่มโคนมที่ยืนบนพื้นปูนซีเมนต์
- มีความเป็นพิษต่ำ เนื่องจากวัตถุดิบมีส่วนประกอบจากยางธรรมชาติ ลดปริมาณสารพิษที่จะส่งผลต่อสุขภาพโคนมและสิ่งแวดล้อม
- ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม “แผ่นยางปูพื้นคอกสัตว์” (มอก. 2584-2556)
ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
ทีมวิจัยผลิตภัณฑ์ยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เบอร์โทรศัพท์ : 02-564-6500 ต่อ 74802