ค้นหา

การพัฒนาการผลิตเชื้อราบิวเวอเรียควบคุมแมลงศัตรูพืช

admin
เข้าชม 533 ครั้ง

ราบิวเวอเรีย ควบคุมแมลงศัตรูพืช

ความสําคัญของงานวิจัย
เชื้อราบิวเวอเรีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Beauveria bassiana จัดเป็นจุลินทรีย์ที่สามารถก่อโรคกับแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แมลงหวี่ขาว ไรแดง และ หนอนแมลงศัตรูพืช สายพันธุ์ราบิวเวอเรียที่ทดสอบพบว่ามีประสิทธิภาพดี คือ สายพันธุ์ BCC2660 ที่สร้างเส้นใยสีขาว สร้างสปอร์จํานวนมาก ลักษณะคล้ายผงแป้ง (powdery Conidia)

จุดเด่นของงานวิจัย/เทคโนโลยี
ปลอดภัยต่อผู้ใช้และผู้บริโภค ไม่มีสารพิษตกค้างในผลผลิต ไม่เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เกิดการดื้อยา ป้องกันกําจัดได้ระยะยาว ต้นทุนการผลิตต่ำ

การผลิตสปอร์ราบิวเวอเรีย
เชื้อราบิวเวอเรีย สามารถผลิตโดยใช้เมล็ดธัญพืชชนิดต่างๆ เช่น ข้าวสาร โดยนําหัวเชื้อราในรูปผงแห้ง หรือสารแขวนลอยสปอร์ผสมลง ในข้าวสารที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อและบรรจุในถุงพลาสติกทนความร้อน ปริมาณ 200-500 กรัม ขยําให้เข้ากันทั่วทั้งถุง บ่มเชื้อในที่ร่มและมีอุณหภูมิ ประมาณ 27 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 7-10 วัน เชื้อราที่ได้ในขั้นตอนนี้ เป็นสปอร์ราสด ที่สามารถนําไปใช้ได้ทันที หากเก็บไว้นานจะทําให้ ประสิทธิภาพลดลง และเกิดการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ชนิดอื่นได้ ทางศูนย์ฯ กําลังพัฒนาสูตรชีวภัณฑ์จากราบิวเวอเรียให้สามารถเก็บรักษา ได้นานขึ้น เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บและการนําไปใช้

การใช้งาน
เมื่อต้องการใช้ ให้ทําการล้างสปอร์ราออกจากเมล็ดข้าวโดย ใช้น้ำสะอาดที่ผสมสารลดแรงตึงผิวหรือสารที่ช่วยให้สปอร์รากระจายตัว และเกาะติดกับผิวแมลงได้ดีขึ้น เช่น น้ำยาล้างจาน (1-2 ช้อนชาต่อน้ำ 10 ลิตร) หรือใช้สารจับใบตามอัตราที่แนะนําของผลิตภัณฑ์นั้นๆ นําสารแขวนลอยสปอร์ไปฉีดพ่นในแปลงพืช โดยฉีดพ่นบริเวณที่เป็นแหล่ง อาศัยของแมลงเพื่อให้สปอร์ราสัมผัสกับตัวแมลงให้มากที่สุด ควรฉีดพ่นในตอนเย็นที่มีอุณหภูมิและความชื้นพอเหมาะต่อการเจริญเติบโตของรา ราบิวเวอเรียจะถูกทําลายได้ง่ายด้วยความร้อนและรังสียูวี ดังนั้นจึงไม่ควรฉีดพ่นเชื้อราขณะที่มีแดดจัดและความร้อนสูง

ติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ (IBCT) กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ (IBBG)
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)
สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) โทรศัพท์ 02-564 6700 ต่อ 3340, 3343, 3248, 3364

คลิกเพื่อดาวน์โหลด

แชร์ :