ค้นหา

สารชีวภัณฑ์แก้ปัญหา โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
เข้าชม 950 ครั้ง

นักวิจัย:
ผศ.ดร.อิสมะแอ เจ๊ะหลง ผศ.อาบีดีน ดะแซสาเมาะ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา :
ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสําคัญต่อเศรษฐกิจของภาคใต้และประเทศไทย โดยเฉพาะน้ำยางที่เป็นวัตถุดิบในการทําผลิตภัณฑ์ยางทั้งอุตสาหกรรมยางรถยนต์และอุปกรณ์ในครัวเรือน ปัจจุบันมีพื้นที่การปลูกยางพาราประมาณ 22.8 ล้านไร่ และมีพื้นที่กรีดได้แล้วจํานวน 20 ล้านไร่ มีผลผลิตรวม 5 ล้านตัน คิดรายได้ในแต่ละปีมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท สร้างรายได้ให้กับประชากรในพื้นที่และก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคใต้เป็นจํานวนมาก (สํานักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร, 2563 : สมาคมยางพาราไทย, 2563) แต่ปัจจุบันเกิดการระบาดอย่างหนักของโรคใบร่วงชนิดใหม่ ทําให้ผลผลิตของยางพาราลดลงร้อยละ 30-50 และบางต้นจะยืนต้นตาย

จากการวิจัยพบว่าเชื้อราเป็นต้นเหตุของปัญหาดังกล่าว ซึ่งสามารถแพร่กระจายสปอร์ด้วยลม ทําให้เกิดการระบาดอย่างรวดเร็วและควบคุมการแพร่กระจายของสปอร์ค่อนข้างยาก อีกทั้งสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในบางช่วงเดือนฝนตกหนัก ร้อนชื้นและฝนตกชุกของภาคใต้ เป็นสภาวะที่เหมาะสมต่อการสืบพันธุ์ของเชื้อราอย่างทวีคูณ ที่ผ่านมามีการแก้ไขเบื้องต้นโดยฉีดพ่นใบยางด้วยสารเคมีจากเรือนยอดลงมาด้วยโดรน

ทําให้สารเคมีแพร่กระจายในอากาศและสิ่งแวดล้อม การควบคุมโรคใบร่วงด้วยนวัตกรรมสารชีวภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ปลอดภัยต่อเกษตรกร สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถควบคุมเชื้อ เมื่อฉีดพ่นลงบนผิวดินในแปลงยาง สารชีวภัณฑ์จะถูกดูดซึมผ่านท่อลําเลียงน้ําของราก ลําต้น และกระจายทุกส่วนของต้นยาง รวมทั้งใบจึงสามารถกําจัดต้นตอและควบคุมเชื้อโรคจากเชื้อราจากภายในต้น

จุดเด่นนวัตกรรม :
สามารถกําจัดเชื้อราที่เป็นเชื้อก่อโรคในพืชที่มาผสมกับสารสกัดที่มีคุณสมบัติในการเร่งการเจริญเติบโต สร้างภูมิคุ้มกัน และเป็นสารสื่อในพืช ทําให้สารชีวภัณฑ์มีราคาถูกกว่าสารเคมีร้อยละ 50 รวมถึงมีคุณสมบัติเด่นและครอบคลุมกว่าสารเคมีที่กําจัดและฆ่าเชื้อราเท่านั้น ที่สําคัญยังเป็นสารที่เกษตรกรใช้ง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ รวมทั้งควบคุมเชื้อราอย่างเบ็ดเสร็จ อีกทั้งสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ต้นยางเพื่อต้านเชื้อได้อีกด้วย

จุดเด่นและความใหม่ของโครงการจากการทดสอบใช้สารชีวภัณฑ์ทั้งในห้องปฏิบัติการและแปลงยางตัวอย่างมีผลในทางที่ดี คือ เชื้อราลดลงและใบแตกยอดใหม่เร็ว ผลการศึกษาข้างต้นมีการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นรายงานครั้งแรกในวารสารนานาชาติ International Journal of Advanced Research in Engineering and Technology wasnu First Report of Effi- cacy Study of Bioextract to Control Pestalotiopsis Sp. Affecting Para Rubber Leaf Disease (Hevea Brasiliensis Muell. Arg) Under Climate Variability

นวัตกรรมสารชีวภัณฑ์รักษาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราจึงเป็นนวัตกรรมที่ยังไม่มีการผลิตมาก่อน และหากผลงานนี้ได้รับการพัฒนาจะสามารถแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงในยางพาราได้ อีกทั้ง ยังเป็นนวัตกรรมพร้อมใช้ที่ใช้สะดวก ง่าย ปลอดภัย เหมาะกับเกษตรกร และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ผลที่คาดว่าจะเกิดจากการนำไปใช้ :
การระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราทําให้ยางพาราผลิตปริมาณน้ํายางลดลงประมาณร้อยละ 60 ส่งผลต่อรายได้ของชาวสวนยางลดลงมากกว่าเท่าตัว ทําให้เกิดความลําบากในการดํารงชีวิต สารชีวภัณฑ์ดังกล่าวนอกจากจะใช้เพื่อป้องกันโรคแล้ว ส่วนหนึ่งจะมีผลให้สร้างปริมาณเนื้อยางเพิ่มขึ้น โดยผ่านกระบวนการดูดซึมสู่ต้นยาง ปฎิกิริยาเมทาบอลิซึม และวิถีชีวสังเคราะห์ที่เพิ่มปริมาณเนื้อยาง ทําให้ต้นยางคืนสภาพที่แข็งแรง ผลิตน้ํายางได้เต็มร้อย เนื้อยางเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น

ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 
133 ถ.เทศบาล 3 ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา 95000 
โทรศัพท์ 073-299699 ต่อ 73300


แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : TRIUP Fair งานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566