ค้นหา

เทคโนโลยีชุดตรวจโรคใบด่าง” นวัตกรรมกู้วิกฤตอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทย

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เข้าชม 461 ครั้ง

นักวิจัย : 

ดร.ชาญณรงค์ ศรีภิบาล นักวิจัยไบโอเทค, ดร.อรประไพ คชนันทน์ หัวหน้าทีมวิจัยไบโอเทค, ดร.แสงสูรย์ เจริญวิไลศิริ นักวิจัยไบโอเทค และนายชวินทร์ ปลื้มเจริญ นักวิชาการ สท. สวทช.

ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา :

“มันสำปะหลัง” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเพราะเป็นทั้งอาหารคน อาหารสัตว์ และเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในหลายอุตสาหกรรม อีกทั้งประเทศไทยยังครองอันดับหนึ่งผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมากที่สุดในโลก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังต้องเผชิญวิกฤตโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดการระบาดอย่างหนัก ส่งผลให้ผลผลิตลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมถึงการขาดแคลนท่อนพันธุ์สะอาดเพื่อนำมาปลูกต่อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมมันสำปะหลังของประเทศในไม่ช้าหากไม่เร่งป้องกันและแก้ไข

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้พัฒนาเทคโนโลยีชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังเพื่อตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังการระบาดของโรคใบด่าง และช่วยลดความเสี่ยงของการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูกต่อ

‘โรคใบด่างมันสำปะหลัง’ วิกฤตใหญ่ของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทย

ดร.อรประไพ คชนันทน์ ไบโอเทค สวทช.  ให้ข้อมูลว่าโรคใบด่างมันสำปะหลังเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) ซึ่งมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะนำโรค โดยเริ่มพบการระบาดบริเวณชายแดนของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2561 แต่ปัจจุบันพบว่ามีการระบาดไปทั่วทุกภูมิภาคที่มีการเพาะปลูกมันสำปะหลัง สาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรงเป็นวงกว้างเกิดจากการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูกต่อ หากระบาดรุนแรงอาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตได้มากถึง 30-80 เปอร์เซ็นต์

ต้นมันสำปะหลังที่ติดโรค

“มันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างจะมีลักษณะใบด่างเหลือง ใบหงิก ลดรูป ลำต้นแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต จำนวนหัวและขนาดของผลผลิตลดลง คุณภาพของแป้งลดลง ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เกษตรกรสูญเสียผลผลิตและรายได้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมันสำปะหลังขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับป้อนเข้าโรงงาน นอกจากนี้เกษตรกรยังขาดแคลนท่อนพันธุ์สะอาดสำหรับปลูกในฤดูกาลถัดไป ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจตามมาอีกมาก ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. จึงได้พัฒนาชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังเพื่อช่วยเกษตรกรเฝ้าระวังโรคใบด่างในแปลงปลูกและใช้คัดกรองท่อนพันธุ์ก่อนนำไปปลูกเพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายไปกับท่อนพันธุ์”

‘โรคใบด่างมันสำปะหลัง’ วิกฤตใหญ่ของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทย

ดร.ชาญณรงค์ ศรีภิบาล ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาเทคนิคการตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง 2 รูปแบบ

1) ใช้เทคนิคอิไลซา (ELISA) ซึ่งเป็นวิธีการที่มีความถูกต้อง ราคาไม่แพง มีความไว (sensitivity) ในการตรวจมากกว่าชุดตรวจที่มีการขายในเชิงการค้า และมีราคาถูกกว่าที่นำเข้าจากต่างประเทศ สามารถตรวจได้ 96 ตัวอย่างในคราวเดียว โดยเทคนิคนี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบการโรงแป้งมันสำปะหลัง หน่วยงานราชการ และมหาวิทยาลัย โดยจัดตั้งเป็นศูนย์ตรวจที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรในการเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่เพาะปลูกและการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค

2) ชุดตรวจแบบรวดเร็วหรือสตริปเทสต์ (Strip test) ที่ใช้งานง่าย มีความไวสูง ความแม่นยำสูง และรู้ผลเร็ว เกษตรกรนำไปใช้ตรวจได้เองในแปลงปลูก โดยนำใบพืชมาบดในสารละลายที่เตรียมไว้ในชุดตรวจ จากนั้นจุ่มตัว Strip test ลงไปในน้ำคั้นใบพืช และรออ่านผล 15 นาที หากขึ้น 1 ขีด ณ ตำแหน่ง C เพียงที่เดียว แสดงว่าตัวอย่างไม่ติดโรค หากขึ้น 2 ขีด ณ ตำแหน่ง T และ C แสดงว่าตัวอย่างติดโรคใบด่างมันสำปะหลัง หากเกษตรกรตรวจพบว่ามีโรคใบด่างในแปลงได้เร็วก็สามารถทำลายต้นที่เป็นโรคได้ทันทีเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดหรือแพร่กระจายเชื้อไปในวงกว้าง

“เทคโนโลยีชุดตรวจโรคใบด่าง” นวัตกรรมกู้วิกฤตอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทย
วิธีใช้ชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบ strip test

นายชวินทร์ ปลื้มเจริญ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. กล่าวว่า ชุดตรวจโรคใบด่างที่ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช.พัฒนาขึ้นจะช่วยให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่าแปลงมันสำปะหลังของตนเองนั้นติดโรคใบด่างหรือไม่ หากพบว่าติดโรคใบด่างก็สามารถถอนทำลายต้นพันธุ์ทิ้งได้ทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่แปลงปลูกข้างเคียงและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้

“เทคโนโลยีชุดตรวจโรคใบด่าง” นวัตกรรมกู้วิกฤตอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทย
เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง ทดลองการใช้ชุดตรวจไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง ที่ทีมนักวิชาการ สวทช. ลงไปอบรมในพื้นที่

จุดเด่นนวัตกรรม :

  • ถูกต้อง แม่นยำ ราคาไม่แพง
  • มีขั้นตอนการตรวจที่ไม่ยุ่งยาก สามารถตรวจตัวอย่างได้พร้อมกันคราวละจำนวนมาก
  • มีความจำเพาะเจาะจง และความไวสูง เมื่อเทียบกับวิธีการมาตรฐาน PCR (relative accuracy = 96%, relative specificity = 100%, relative sensitivity = 92%)
  • มีความไวในการตรวจหาเชื้อที่สูงกว่าชุดตรวจที่นำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาที่ถูกกว่า

ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ : 

ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. โทรศัพท์ 025646700 ต่อ 3342

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.nstda.or.th/home/news_post/bcg-delight-casava-slcmv-strip-test/