ค้นหา

นวัตกรรมการอบไม้จากต้นปาล์มน้ำมัน เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
เข้าชม 808 ครั้ง

นักวิจัย : รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน

ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา :

ปาล์มน้ำมันเป็นพืชสำคัญทางเศรษฐกิจที่ปลูกมากในประเทศไทย เมื่อต้นปาล์มน้ำมันมีอายุได้ประมาณ 25-30 ปี ผลผลิตปาล์มน้ำมันจะมีปริมาณลดน้อยลง รวมทั้งความสูงของลำต้นที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตยากขึ้น เกษตรกรจึงต้องมีการตัดโค่นต้นปาล์มน้ำมันเพื่อปลูกใหม่ทดแทน ทำให้เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตัดโค่นลำต้นแล้วขนย้ายนำไปทิ้ง เผาทำลาย หรือฝั่งกลบภายในสวน เกษตรบางส่วนอาจใช้วิธีฉีดสารเคมีเพื่อให้ยืนต้นตายแล้วย่อยสลายทิ้งไปในสวน สร้างผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ปลูกและค่าใช้จ่ายของเกษตรกร

สำหรับการใช้วิธีการแปรรูปอบแห้งไม้ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ส่งผลให้ไม้ปาล์มน้ำมันเกิดความเสียหายเนื่องจากการยุบตัวอย่างรุนแรงในระหว่างการอบ อีกทั้งใช้ระยะเวลาและพลังงานการอบที่สูงทำให้ไม่คุ้มทุน จึงทำให้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังไม่ได้มีการนำต้นปาล์มน้ำมันเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้

ม.วลัยลักษณ์ จึงได้ศึกษาวิธีการอบและการใช้ประโยชน์ไม้ปาล์มน้ำมันในรูปแบบใหม่ และได้ค้นพบกระบวนการ Pre-treatment ที่เปลี่ยนไม้ปาล์มน้ำมันที่ถือว่าอบยากที่สุดในบรรดาไม้ทั้งหมด ให้กลายเป็นไม้ที่อบได้ง่ายที่สุด โดยคุณสมบัติต่างๆ ของไม้ไม่เสียไป เป็นนวัตกรรมใหม่สามารถแก้ปัญหาที่มีมาเป็นระยะเวลานาน โดยใช้กระบวนการอัดน้ำเข้าในไม้ปาล์มน้ำมันต่อด้วยการแช่เยือกแข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -10 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้เกิดรอยแตกขนาดเล็กในระดับ 1 ในล้านของเมตรในโครงสร้างไม้ปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้ไม้ปาล์มน้ำมันสามารถอบได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งเทคนิคนี้สามารถใช้ได้กับลำต้นไม้สายพันธุ์ปาล์มชนิดอื่นๆและสามารถผนวกเข้ากับกระบวนการผลิตไม้ยางพาราในโรงงานที่มีอยู่ทั่วไปในพื้นที่ได้อีกด้วย

จุดเด่นนวัตกรรม :

  • ไม่มีการยุบตัวของไม้หลังการอบ อบได้อย่างรวดเร็วโดยไม้ไม่แตก และคุณสมบัติสำคัญต่างๆของไม้ไม่เสียไป
  • สามารถอบไม้ที่มีความหนามากๆ ได้
  • สามารถทำกระบวนการ Heat-treatment ด้วยความร้อนตั้งแต่เริ่มต้นที่อุณหภูมิสูงมากถึง 200 องศาเซลเซียสได้
ไม้ปาล์มน้ำมันที่ผ่านกระบวนการ Heat treatment
ผลิตภัณฑ์ตัวอย่างจากไม้ปาล์มน้ำมัน

ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ : 

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

โทรศัพท์ : 075-673-671 และ 075-672-304
Email : [email protected]

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.wu.ac.th/th/news/22400/%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2-%E0%B8%A1-%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B9%8C-%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%A7--%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7-%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%A5