ค้นหา

นวัตกรรม “ชะลอผลไม้สุก” ของไทย-มาเลย์ ช่วยยืดอายุผลไม้ให้อร่อยคงที่นาน 14 วัน!

ผศ.ดร. กิตติ เมืองตุ้ม,นายเรืองศักดิ์ เตียเอี่ยมดี
เข้าชม 282 ครั้ง

นักวิจัย :

ผศ.ดร. กิตติ เมืองตุ้ม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ร่วมกับ นายเรืองศักดิ์ เตียเอี่ยมดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงสีข้าว ต.ประเสริฐ อุตรดิตถ์  จำกัด

ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา :

ผลไม้ไทย มีคุณภาพดีและมีรสชาติอร่อย เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อทั่วโลก แต่ยากในการดูแลรักษาคุณภาพสินค้า เพราะหลังการเก็บเกี่ยว โดยธรรมชาติพืชผักผลไม้สดยังคงมีการหายใจตามอัตราปกติเหมือนตอนที่ติดอยู่บนลำต้น ซึ่งกระบวนการหายใจของผลไม้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลไม้สูญเสียความสด หากวางพืชผักผลไม้ในพื้นที่ที่มีระดับก๊าซออกซิเจนมาก ยิ่งส่งผลให้ผลผลิตเหี่ยวง่ายได้

เอทิลีน เป็นตัวการสำคัญที่กระตุ้นให้ผลไม้เกิดการสุก ดังนั้น วิธีการใดก็ตามที่มีผลลดอัตราการสร้างหรือยับยั้งการทำงานของเอทิลีนในพืชย่อมส่งผลให้ชะลอการสุกได้ โดยทั่วไปสภาพที่มีผลต่อการกระตุ้นการสร้างเอทิลีนในพืชได้แก่ อุณหภูมิ ปริมาณออกซิเจน การเกิดบาดแผลหรือชอกช้ำ รวมทั้งการเข้าทำลายของโรคและแมลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าว มีผลส่งเสริมการสร้างเอทิลีน แต่มี 3 แนวทาง ที่สามารถยับยั้งการสร้างเอทิลีนหรือมีผลทำลายเอทิลีน ได้แก่ 1.ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์  2. อุณหภูมิต่ำ 3. การใช้สารดูดซับเอทิลีน โดยการใช้สารดูดซึบเอทิลีนให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด จะต้องใช้ในปริมาณที่มากพอ เพื่อให้การทำลายเอทิลีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ เกษตรกรสามารถชะลอการสุกของผลไม้และยืดอายุการเก็บรักษาทำได้หลายวิธี เช่น การใช้ห้องเก็บรักษาที่สามารถควบคุมอุณหภูมิความชื้น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และออกซิเจนจะทำให้อายุการเก็บรักษายาวนานมาก ในกรณีที่ไม่มีห้องเก็บรักษาผลไม้ก็อาจดัดแปลงได้ โดยการเก็บผลไม้ในถุงพลาสติกแล้วใส่สารดูดซับเอทิลีนลงไป จากนั้นจึงนำไปเก็บไปในตู้เย็น

โชว์ผลิตภัณฑ์ขี้เถ้าแกลบเสริมฤทธิ์การชะลอการสุกของผลไม้

ดร. กิตติ เมืองตุ้ม ได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ชื่อว่า “ขี้เถ้าแกลบเสริมฤทธิ์การชะลอการสุกของผลไม้ (Anti Ripening Pack)” ที่ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจสินค้าเกษตรได้อย่างน่าทึ่ง เพราะเทคโนโลยีชนิดนี้ช่วยถนอมความสดของพืชผักผลไม้เอาไว้ให้นานที่สุด จนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค ส่งผลให้ผลงานวิจัยชิ้นนี้ ได้รับรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ปี 2559 รางวัลที่ 1 ในระดับอุตสาหกรรม จัดโดย มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมป์และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช.

คุณเรืองศักดิ์ (ซ้าย) และ ดร. กิตติ (ขวา) โชว์รางวัลชนะเลิศจากมูลนิธิข้าวไทย

ดร. กิตติ เจ้าของโครงการวิจัยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศครั้งนี้ ได้ร่วมมือกับ คุณเรืองศักดิ์ เตียเอี่ยมดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงสีข้าว ต.ประเสริฐ อุตรดิตถ์  จำกัด ศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์ของเหลือใช้จากขี้เถ้าแกลบของโรงสีข้าว โดยพบว่า การใช้ขี้เถ้าแกลบ เป็นวัสดุตัวกลางในการเสริมสารเสริมฤทธิ์ ที่มีประสิทธิภาพในการชะลอการสุกของผลไม้และลดอุณหภูมิในบรรจุภัณฑ์ได้

โชว์แกลบ… วัสดุเหลือใช้ของโรงสี

การใช้ขี้เถ้าแกลบ เป็นวัสดุตัวกลางในสารเสริมฤทธิ์ ที่มีประสิทธิภาพในการชะลอการสุกของผลไม้ และลดอุณหภูมิในบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้ สารดูดซับเอทิลีน เป็นที่รู้จักกันดี คือด่างทับทิม ที่สามารถทำปฏิกิริยาทางเคมีกับเอทิลีนทำให้เกิดเป็นสารแมงกานีสไดออกไซด์ และเอทิลีนไกลคอล ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็นเอทิลีนได้อีก

ผลิตภัณฑ์ขี้เถ้าแกลบ 150 กรัม ชะลอการสุกของลางสาด 2 กิโลกรัม

ดร. กิตติ ได้ปรับปรุงคุณสมบัติความเป็นรูพรุนของขี้เถ้าแกลบ โดยใช้สาร Glycerol เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจับสารในรูพรุน และการใช้สารที่สามารถกักเก็บได้ในรูพรุนขี้เถ้าแกลบ คือสารเคมีในกลุ่ม KMnO4 และ Propylene glycol เพื่อประโยชน์ในการทำให้ชะลอการสุกของผลไม้ได้ ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า แนวคิดดังกล่าวสามารถชะลอการสุกของกล้วยหอมได้ 2 สัปดาห์ (โดยใช้ผลิตภัณฑ์ขี้เถ้าแกลบ 25 กรัม ต่อกล้วย 1 หวี หรือ 8 ผล)

คุณสมบัติและจุดเด่นของผลงาน :

  • ช่วยชะลอการสุกงอมของผักและผลไม้
  • ช่วยลดการเปลี่ยนสี กลิ่น และคุณค่าทางอาหารของผลผลิต ทำให้ผลไม้สดสมบูรณ์จนถึงมือผู้บริโภคได้ในปริมาณมากขึ้น
  • ช่วยลดปริมาณความเสียหายของสินค้าเกษตรให้ลดลง โดยมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมาก

ผลที่คาดว่าจะเกิดจากการนําไปใช้ :

ชะลอการสุกงอม ลดการเปลี่ยนแปลงสี กลิ่น และคุณค่าทางอาหารของผักและผลไม้ เพิ่มระยะเวลาในการเก็บรักษาผักและผลไม้ในการขนส่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_94212