นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล :
ศฬิษา พิทักษ์, วิมลรัตน์ ดำขำ, กลวัชร ทิมินกุล, ศิริลักษณ์ พุทธวงค์, กาญจนา มหาเวศย์สกุล, เปรมจิตต์ ถิ่นคำ, สิทธิพงศ์ ศรีสว่างวงศ์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมวิชาการเกษตร, ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชขอนแก่น, ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา :
ถั่วลิสงเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยที่มีการใช้บริโภคภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศจำนวนมาก พื้นที่และผลผลิตในแต่ละปีมีแนวโน้มลดลง สวนทางกับความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบ ทำให้ต้องมีการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งยังประสบปัญหาแรงงานภาคเกษตรกรรมลดลงและค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น โดยเฉพาะขั้นตอนการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสง การปลิดขั้วฝักออกจากต้นถั่วลิสง จำเป็นต้องปลิดขั้วฝักถั่วลิสงออกจากต้นถั่วอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสียหายของเมล็ดพันธุ์และนำไปปรับปรุงสภาพหลังการเก็บเกี่ยว
ถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 เป็นถั่วลิสงฝักขนาดเล็ก มีจำนวนฝัก 20-30 ฝักต่อต้น เมื่อปลิดฝักด้วยแรงงานคนมีอัตราการปลิดเฉลี่ย 5-6 กิโลกรัมฝักสด/ชั่วโมง/คน หรือ 30-40 กิโลกรัม/วัน/คน กรมวิชาการเกษตร จึงได้วิจัยและพัฒนาเครื่องปลิดฝักถั่วลิสงกึ่งอัตโนมัติ เพื่อรักษาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์และลดระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว ซึ่งผลการทดสอบเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงด้วยเครื่องปลิดฝักถั่วลิสงกึ่งอัตโนมัติ พบว่าการปลิดฝักด้วยแรงงานคนใช้ระยะเวลามากที่สุด 54 ชั่วโมง/ไร่ หากใช้เครื่องปลิดขั้วฝักถั่วลิสงแบบกึ่งอัตโนมัติใช้เวลาน้อยกว่าเฉลี่ย 21.3 ชั่วโมงต่อไร่
การใช้เครื่องปลิดขั้วฝักถั่วลิสงแบบกึ่งอัตโนมัติเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 ที่ความเร็วรอบหัวปลิด 250 รอบต่อนาที มีเปอร์เซ็นต์ฝักแตก 11% และเปอร์เซ็นต์ฝักติดขั้ว 16% จากผลวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์ภายหลังการเก็บรักษาที่ 0 1 2 และ 3 เดือน พบว่า เปอร์เซ็นต์ความงอกมาตรฐานของเมล็ดพันธุ์เฉลี่ย 96 94 93 และ 88 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์เฉลี่ย 94 93 88 และ 86 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ และมีความแตกร้าวของเมล็ดพันธุ์ใกล้เคียงกับวิธีการปลิดขั้วฝักด้วยแรงงานคน จากการทดลองโดยเกษตรกร เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อใช้เครื่องปลิดขั้วฝักถั่วลิสงแบบกึ่งอัตโนมัติแบบย่อส่วนเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ระดับดีมาก เฉลี่ย 93.50%
จุดเด่นนวัตกรรม :
1. เพื่อช่วยลดปัญหาแรงงานภาคเกษตรกรรมลดลงและค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น
2. เพื่อช่วยลดการสูญเสียผลผลิตทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพส่งผลให้ได้เมล็ดพันธุ์ดีมีคุณภาพ
3. เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการปลิดขั้วฝักถั่วลิสง