นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล :
ทีมวิจัย
1. รศ.ยุพกนิษฐ์ พ่วงวีระกุล
2. อ.สุวิมล สร้อยทองสุข
หน่วยงานผู้สนับสนุนทุนวิจัย/หน่วยงานให้ทุน(หากมี)
บพข, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ลิ่มเชียงเส็ง
หน่วยงานเจ้าของผลงาน
มหาวิทยาลัยรังสิต
เลขที่คำขอสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร
1.2403002534 เครื่องผลิตไข่เทียมแบบต่อเนื่อง, 2. 2403001282 กรรมวิธีผลิตพะโล้ไข้ต้มจากพืชพร้อมบริโภค ,3. 2403001281 กรรมวิธีผลิตไข่ต้มจากพืชสูตรถั่วเขียว 4. 2203001971 กระบวนการผลิตไข่ต้มพืชพร้อมกินเก็บรักษาที่อุณหภูมิสิ่งแวดล้อมนาน 1 ปี
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา :
มูลเหตุจูงใจของการพัฒนาผลงานเป็นผลมาจากการออกบูธและจัดกิจกรรมแสดงสินค้าไข่ต้มจากพืชและทดสอบตลาด พบว่ามี 2 ประเด็นสำคัญ ที่ผู้บริโภคเสนอแนะ คือ
ประการที่ 1 อายุการเก็บรักษาที่ยาวนานเกินไป ไม่ใช่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ เนื่องจากให้ความรู้สึกว่าจะไม่ได้รับความสดใหม่และคุณค่าสารอาหารจากการรับประทานไข่ต้มจากพืช โดยผู้ทดสอบร้อยละ 89.9 ต้องการให้ไข่ต้มจากพืชมีอายุการเก็บรักษาไม่เกิน 30 วัน อีกทั้งผู้บริโภคยังต้องการนำผลิตภัณฑ์ไข่ต้มจากพืชไปสร้างสรรค์เมนูอื่นต่อเนื่อง ซึ่งต้องใช้ความร้อนในการประกอบอาหาร ผู้บริโภคทั้งหมดแสดงความกังวลใจอย่างชัดเจนถึงกระบวนการยืดอายุที่ใช้วิธีพาสเจอไรซ์เซชั่นร่วมกับการเติมสารกันเสียไนซินและนาทาไมซิน แม้จะเป็นสารกันเสียจากธรรมชาติแต่ก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่อาจตกค้าง และก่อผลกระทบข้างเคียงต่อตับและไต ไม่เหมาะต่อการบริโภคเพื่อสุขภาพ รวมถึงไม่ให้การยอมรับไข่ต้มพืชฉายรังสีแกมมาด้วยความเข้าใจผิดว่ามีกัมมันตภาพรังสีก่อให้เกิดมะเร็ง
โดยต้องการเพียงกระบวนการพาสเจอไรซ์อย่างเดียวในการยืดอายุ
ประการที่ 2 ข้อจำกัดในการนำไข่ต้มจากพืชไปประกอบเมนูอื่นที่ต้องใช้ความร้อนซ้ำ เช่น ต้ม นึ่ง ผัด ทอด ปิ้ง ย่าง หรือเคี่ยวในน้ำพะโล้ ว่าจะทำได้เหมือนไข่จริงหรือไม่
ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้พัฒนาไข่จากพืชพร้อมรับประทานให้มีลักษณะตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น
จุดเด่นนวัตกรรม :
1. เป็นผลิตภัณฑ์ไข่ต้มจากพืชไร้สารก่อภูมิเเพ้ (Top 8 allergen-free)
2. มีคุณค่าทางโภชนาการทัดเทียมไข่ต้มจริง และดีกว่าไข่ต้มพืชทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3. สะดวก เป็นอาหารพร้อมรับประทาน เพียงฉีกซองก็รับประทานได้ทันที พกพาง่าย
4. มีอายุการเก็บรักษายาวนาน ที่อุณหภูมิสิ่งแวดล้อมไม่ต่ำกว่า 100 วัน ช่วยลดภาระการจัดส่งโดยไม่ต้องแช่เย็น
5. มีความสมดุลของรสชาติ เนื้อสัมผัส ลักษณะปรากฏ โภชนาการและราคาที่ผู้บริโภคให้การยอมรับ
6. สามารถใช้ประกอบอาหารทดแทนไข่ต้มจริงได้ทุกเมนู
7. สามารถอุ่นร้อนได้ ต้มซ้ำได้ ทอดซ้ำได้ โดยไม่ละลายเสียรูป
กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์เป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ คนที่แพ้ไข่สามารถรับประทานได้ เพราะไม่มีส่วนผสมของโปรตีนที่เป็นสาเหตุของการแพ้ที่พบในไข่ขาวและไข่แดง กลุ่มที่แพ้กลูแตนและถั่วเหลือง กลุ่มวีแกน กลุ่มกินเจ กลุ่มกินอาหารจากพืช (plant-based food) เพราะไม่มีส่วนผสมของสัตว์
กลุ่มเป้าหมายรอง คือ คนทั่วไปที่ต้องการควบคุมไขมัน โซเดียมและคอเลสเตอรอล มีโภชนาการเทียบเท่ากับไข่ต้มจริง โดยมีไขมันต่ำกว่า 23% โซเดียมต่ำกว่า 52 % และไม่มีคอเลสเตอรอล รวมถึงคนที่ต้องการลดหรือควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากให้แคลอรีเพียง 57.03% เมื่อเทียบกับไข่ต้มจริง
ขนาดตลาดเป้าหมาย
ปัจจุบันอัตราการแพ้ไข่ของประชากรโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 1% ดังนั้นจะมีผู้คนทั่วโลกประมาณ 80 ล้านคนที่แพ้ไข่ (Gupta etal.,2019; Sicherer and Sampson, 2014) ส่วนการแพ้กลูเตนของประชากรโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 6-7% จึงมีจำนวนผู้ที่แพ้กลูเตนทั่วโลกประมาณ 560 ล้านคน (Fasano etal,2015; Catassi and Fasano,2014) และการแพ้ถั่วเหลืองของประชากรโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 1% ทำให้มีจำนวนผู้ที่แพ้ถั่วเหลืองทั่วโลกประมาณ 80 ล้านคน (Gupta etal.,2019; Sicherer and Sampson, 2014) ซึ่งเป็นขนาดตลาดที่ใหญ่และเป็นโอกาสสำหรับไข่ต้มไบโอเอ๊กซ์
กลุ่มอุตสาหกรรม/กลุ่มเอกชนที่นำผลงานมาใช้
ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) เป็นการเข้าถึงของคนที่มีรายได้น้อยของประเทศ และรองรับกลุ่มประชากรแพ้อาหาร เนื่องจากข้อมูลสถิติการแพ้อาหารของประชากรไทยในปี 2561 เพิ่มขึ้น 300-400% จาก 1 คนต่อปี เป็น 2 คน/สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีความปลอดภัยทางอาหาร (Food safety) เนื่องจากกระบวนการผลิตได้รับการยอมรับว่ามีความปลอดภัย และเมื่ออุตสาหกรรมของประเทศมีความพร้อมของเครื่องมือที่ต่อไปจะมีราคาถูกจนเข้าถึงได้ง่าย การผลิตระดับ mass production จะทำให้ผลิตภัณฑ์ไข่ต้มจากพืชไร้สารก่อภูมิแพ้ มีราคาที่ไม่แตกต่างไปจากไข่จริง จนถึงมีราคาที่ต่ำกว่าราคาไข่จริง ในขณะที่มีความเหนือชั้นกว่า ตรงที่สามารถเสริมโภชนาการ เสริมสารสำคัญเชิงหน้าที่ได้อย่างไร้ขีดจำกัดที่ไข่ไก่จริง ไม่สามารถทำได้ ราคาที่ถูกลง จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากวัตถุดิบทั้งหมดหาได้ง่าย มีปริมาณมากตลอดปี ราคาถูก และใช้ของในประเทศทั้งหมด ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าจากต่างประเทศ ไข่ผงมีความเหนือชั้นกว่าในด้านโภชนาการ ส่วนไข่ต้ม นอกจากความเหนือชั้นในความสามารถทอดซ้ำได้ ต้มซ้ำได้ โดยไม่เสียรูป สามารถเก็บรักษาได้นาน 6 เดือนที่อุณหภูมิปกติ และยังมีโภชนาการสารอาหารสูงกว่าสินค้าจากต่างประเทศ อาทิ มีโปรตีน ใยอาหารสูงกว่า มีไขมัน โซเดียมต่ำกว่า สินค้าคู่เทียบไข่ต้มพืชทั้งของประเทศสวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกา ที่ยังต้องเก็บรักษาแบบแช่เย็นและแช่แข็ง และมีอายุการเก็บที่สั้นเพียง 90 วัน ประการสำคัญคือ สินค้าของต่างประเทศยังเป็นเพียงอาหารพร้อมพร้อมปรุง (ready to cook) มิใช่อาหารพร้อมกิน (ready to eat) เหมือนผลิตภัณฑ์ จากโครงการวิจัย คุณค่าของไข่ต้มจากพืชไร้สารก่อภูมิแพ้ คือการมีกระบวนการผลิตที่เป็นเศรษฐกิจ BCG มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เพียงสอดคล้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพในประเทศทั้งหมดอย่างคุ้มค่า ลดปริมาณ food lose (ผลพลอยได้-มูลค่าต่ำและเป็นภาระแก่การจัดเก็บ) และ food waste (ของเหลือทิ้ง-ไม่มีราคาและเป็นภาระแก่การกำจัด) เริ่มจากวัตถุดิบข้าวเปลือกปทุมธานี 1 จากแปลงนาอินทรีย์ ที่ได้การรับรองของวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนผลพลอยได้กากรำสกัดหีบเย็น ปลายข้าวมอลต์ รำข้าวมอลต์ กากตะกอนสาโท และแผ่นไบโอฟิล์มแห้งเหลือทิ้งของชาหมักจากน้ำเวิร์ตข้าวไทย มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต แต่ยังสอดรับกับเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่ลดผลกระทบต่อโลกและมุ่งประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคม และยังมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ได้ ที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals ; SDGs) และสอดรับกับหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy ; SEP) ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอีกด้วย ไข่ต้มจากพืชไร้สารก่อภูมิแพ้ เป็นสินค้าที่มีความต้องการในตลาดโลกเพราะตอบโจทย์ผู้แพ้อาหารครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้แพ้ไข่ กลุ่มผู้แพ้ถั่วเหลือง และกลุ่มผู้แพ้กลูเตน และมีศักยภาพในการขยายสู่ฐานกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปเพื่อทดแทนการบริโภคไข่จริงจากสาเหตุหลายประการ ผลกระทบในเชิงเศรษฐศาสตร์ ที่เกิดขึ้นกับประเทศ คือ เทรนด์การบริโภคสินค้าโปรตีนจากพืชได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยตลาดสินค้าโปรตีนจากพืช มีมูลค่าสูงกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศผู้ส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 22 ของโลก และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันชาวเอเชีย บริโภคไข่เกือบ 200 ฟองต่อคนต่อปี และภูมิภาคนี้ผลิตไข่มากกว่า 65% ของโลก แม้แต่ในสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากวิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา กลับพบว่าการส่งออกสินค้าโปรตีนจากพืชของไทย อาทิ โปรตีนเกษตร อาหารแปรรูปจากพืชที่มีโปรตีนเข้มข้น และเต้าหู้ สู่ตลาดโลก กลับขยายตัวถึง 104% จากช่วงเดียวกันของปี พ.ศ.2562 โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง อาเซียน จีนไทเปและจีน และโดยเฉพาะในตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอด้วย อาทิ ฮ่องกง พบว่า ขยายตัว 5,956% ญี่ปุ่น ขยายตัว 2,375% จีน ขยายตัว 868% ฟิลิปปินส์ ขยายตัว 666% และเกาหลีใต้ ขยายตัว 646% สินค้าส่งออกสำคัญ คือ โปรตีนเกษตรและอาหารแปรรูปจากพืชที่มีโปรตีนเข้มข้น มูลค่า 2.28 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 96% ของการส่งออกโปรตีนจากพืชทั้งหมด ที่มีการขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ถึง 117% ที่ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่มีกับประเทศคู่ค้า 18 ประเทศ ยิ่งไปว่านั้น ด้วยจุดเด่นขององค์ประกอบของไข่จากพืชซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบหลักจาก food lose &Food waste (ผลพลอยได้และของเหลือ) จากการแปรรูปข้าว ที่สามารถนำไปสู่การลดผลกระทบจากข้อกีดกันทางการค้า (non-tariff barriers) สอดคล้องกับความต้องการของหลายประเทศและหลายเขตเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โอกาสทองของ“ไข่ต้มจากพืชไร้สารก่อภูมิแพ้”ของไทย ในการเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานสำหรับการส่งออก นอกจากจะเป็นการเพิ่มข้อได้เปรียบในการแข่งขันและนำไปสู่การผลักดันให้เป็นสินค้าส่งออกที่สร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองแล้ว ยังตอบสนองต่อความต้องการ ของตลาดโปรตีนและไข่จากพืชไร้สารก่อภูมิแพ้ในตลาดอาหารแพลนต์เบสโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกนี้อีกด้วย สร้างประโยชน์ต่อสังคม สร้างสังคมเข้มแข็งแบ่งปัน สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ มีการเชื่อมโยงพัฒนาต่อยอดจากฐานรากกลุ่มผู้ผลิต ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรต้นน้ำ ส่งต่อมายังภาคการผลิตสินค้าไข่ต้มจากพืชทุกระดับ ผู้ประกอบที่สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีเหมาะสมจากงานวิจัยเข้ากับงบประมาณการลงทุน รองรับตั้งแต่ขนาดเล็กถึงภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในการพัฒนาให้เป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานสำหรับการจำหน่าย ทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก เพื่อส่งต่อสู่ผู้บริโภคปลายน้ำ สร้างคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ให้แข็งแรงจากการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการที่ดี มีส่วนในการช่วยลดภาระของรัฐบาลในภาระค่าใช้จ่ายบริการสาธารณะสำหรับการดูแลสุขภาพประชาชน ประชากรกลุ่มเป้าหมายในสังคมที่จะได้รับประโยชน์ ประกอบด้วยผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์และผู้บริโภค มีรายละเอียด ดังนี้ [1] ผู้ผลิตวัตถุดิบ • ขยายโครงการปลูกข้าวอินทรีย์ ลดการใช้เคมี เพื่อเป็นวัตถุดิบและมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ที่จะนำไปสู่สุขภาพที่ดีขึ้นในภาพรวม • รายรับวิสาหกิจชุมชนและชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการสูงขึ้น • สามารถจำหน่ายวัตถุดิบในการผลิตไข่ต้มจากพืช เช่น ข้าวกล้องงอกมอลต์ ข้าวมอลต์แดงอังคัก คอมบูชาชาข้าวหมัก สาโท เครื่องดื่มน้ำโปรตีนเข้มข้น ฯลฯ เป็นอาชีพเสริมรายได้แก่ชุมชนและชาวบ้าน ให้สามารถพึ่งพาตนเองและได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่คืนกลับมากขึ้น • เป็นโครงการต้นแบบเพื่อกระจายสู่กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนการเกษตร ช่วยให้เกษตรกรมีการรวมตัวกันแปรรูปข้าว สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ข้าวพันธุ์หลักในแต่ละภูมิภาค ภายใต้ความเห็นพ้องต้องกันของทุกคนในชุมชน • มีแนวคิดที่จะใช้พืชวัตถุดิบท้องถิ่น ซึ่งประเทศไทย มีความหลากหลายในด้านวัตถุดิบให้เลือกใช้ โอกาสของไข่จากพืช จึงไม่ใช่การแข่งขันกัน และไม่มีความจำเป็นที่ต้องเป็นอุตสาหกรรมใหญ่เท่านั้น การใช้พืชทดแทนในท้องถิ่น นอกจากจะช่วยสนับสนุนเกษตรกรแล้ว ยังเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้กับตัวสินค้าที่ไม่เหมือนกัน ในภาพรวมไม่ว่าจะผลิตเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน หรือผลิตเชิงพาณิชย์ ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง การเข้าถึงเกิดขึ้นได้จริง เป็นการส่งเสริมการมีสุขภาพดีของคนไทย [2] ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ “ไข่ต้มจากพืช” • เพิ่มโอกาสในการขาย และลดการสูญเสียจากของหมดอายุ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไข่จากพืชทางการค้าของต่างประเทศที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน ทั้งหมดเป็นอาหาร ready to cook ไม่ใช่ ready to eat ส่วนไข่ต้มจากพืชของต่างประเทศจำเป็นต้องเก็บแบบแช่เย็นหรือแช่แข็ง ในขณะที่ “ไข่ต้มจากพืชจากงานวิจัย” ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บที่ง่ายกว่า สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิปกติ เนื่องจากมีกระบวนการยืดอายุการเก็บ จึงลดการสูญเสีย (food loss) และยังสามารถขยายกำลังผลิต เพื่อการส่งออกได้อย่างไร้ข้อจำกัด • เพิ่มทางเลือกในการหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนจากสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร สะดวกในการผลิต ช่วยประหยัดเงิน ประหยัดเวลา ใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด ซึ่งหาได้ง่าย ราคาถูก มีปริมาณมากและมีตลอดปี ไม่ขาดแคลน สามารถควบคุมปริมาณสต๊อกวัตถุดิบได้ง่าย [3] ผู้บริโภค • ได้บริโภคสินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้ประโยชน์ต่อสุขภาพและมีความยั่งยืน มีส่วนร่วมในการช่วยลดการบริโภคอาหารจากสัตว์ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม • ผู้บริโภคทั่วไปมีทางเลือกที่มีความปลอดภัยจากอันตรายที่มีโอกาสได้รับจากการบริโภคไข่สด เช่น แบคทีเรียซาลโมเนลลา และการตกค้างของฮอร์โมน รวมถึงยาปฏิชีวนะในฟาร์มไก่ไข่ที่มักจะมีการปนเปื้อนในไข่ไก่ • ผู้บริโภคที่แพ้ไข่ รวมถึงผู้บริโภคเจ มังสวิรัติและชาววีแกน ได้รับความสุขกลับคืน จากการเติมเต็มรสสัมผัสในการบริโภคไข่ต้มจากพืช ได้เหมือนเดิม • ผู้ที่ต้องการโปรตีนเป็นพิเศษ ผู้ที่ต้องการควบคุมโคเลสเตอรอลและน้ำหนัก สามารถบริโภคไข่ต้มจากพืชแทนไข่จริงได้ • ผู้ที่ไม่มีเวลาในการเตรียมอาหาร หรือมีไลฟสไตล์ที่เร่งรีบ สามารถชดเชยมื้ออาหารด้วยโภชนาการจากผลิตภัณฑ์ไข่ต้มจากพืช ที่พกพาสะดวก มีติดรถ ติดบ้าน ติดกระเป๋าไว้แก้หิว เพียงฉีกซอง ก็สามารถบริโภคได้ทันที ประโยชน์ต่อความมั่นคง และการพัฒนาประเทศ ศักยภาพตลอดห่วงโซ่ในการผลิต เป็นการขับเคลื่อนประเทศ เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้ของประชาชน นำไปสู่การขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ที่มีวัตถุดิบ ช่วยยกระดับรายได้ของชาวนา เพิ่มการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกร มีอาชีพที่มั่นคง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ไม่ย้ายถิ่น ลดการใช้แรงงานจากต่างประเทศ นำไปสู่การเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร จะเป็นการเข้าถึงของคนที่มีรายได้น้อยของประเทศ และรองรับกลุ่มประชากรแพ้อาหาร ตอบรับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปของประชากร ที่ตระหนักรู้และเริ่มหันมาเลือกบริโภคสินค้าที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรค NCDs มากขึ้น เพิ่มดัชนีด้านสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ที่สะท้อนถึงคุณภาพชีวิตของประชากรชาวไทย นำไปสู่ความสามารถในการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข และเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
มหาวิทยาลัยรังสิต
เลขที่ 52/347 หมู่บ้านเมืองเอก ถ.พหลโยธิน ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000.
โทร : 02-791-6000. แฟ็กซ์ : 02-791-5577.