นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล :
อาจารย์พิทักษ์ สถิตวรรธนะ
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น : การเพาะเห็ด เป็นอาชีพที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มีกรรมวิธีการเพาะที่ไม่ยุ่งยาก ใช้เงินลงทุนไม่มาก ใช้เวลาในการเก็บผลผลิตสั้น ให้ผลตอบแทนเร็ว และสามารถเพาะเห็ดได้ตลอดทั้งปี เกษตรกรและผู้สนใจสามารถเพาะเห็ดเป็นอาหารบริโภคภายในครัวเรือน และยังสามารถพัฒนาเป็นอาชีพเลี้ยงดูครอบครัวได้เป็นอย่างดีในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
ความสำคัญของปัญหา : การเพาะเห็ดวิธีการเดิมต้องใช้เวลาในการดูแลมาก ปัญหาที่พบได้บ่อย คือ
1. เชื้อในถุงไม่เดินหรือเชื้อเดินแต่หยุด เห็ดมีกลิ่นบูด มีน้ำเมือก มีสีเหลือง-เขียว-ดำ
2. เชื้อเดินเต็มก้อน แต่ไม่ออกดอก เห็ดมีสิ่งที่ปนเปื้อน เช่น รา ไร แบคทีเรีย หนอน และมีการใช้สารเคมีมากเกินไป อาจจะทำให้เกิดหนอนแมลงหวี่กินเส้นใย
3. เกิดดอกเห็ดก้านยาว หมวกดอกไม่แผ่ออก เนื่องจากแสงไม่เพียงพอและมีคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป
4. เกิดดอกเพียงรุ่นเดียว รุ่นต่อไปไม่เกิด เนื่องจากอาหารในก้อนเชื้อไม่เพียงพอ เกิดการปนเปื้อน การจัดการโรงเรือนที่ไม่ดี เชื้อไม่ดี
5. เกิดหน่อมากแต่ดอกกลับเติบโตน้อย ไม่เหมาะแก่การพัฒนาของดอก ขาดออกซิเจนและแสง อาหารในก้อนเชื้อไม่เพียงพอหรือไม่มีคุณภาพ เชื้อที่ใช้ไม่ดี มีคุณภาพต่ำมีจุลินทรีย์ต่างๆ รบกวน การถ่ายเทอากาศไม่ดี ความชื้นสูงเกินไปและรดน้ำมากเกินไป
จุดเด่นนวัตกรรม :
ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติเข้ามาแทนการดูแลการเพาะเห็ดแบบเดิม ทำให้เกษตรกรมีเวลาไปทำกิจกรรมอื่นได้ ที่สำคัญช่วยให้การเพาะเห็ดเป็นเรื่องง่ายและผลิตเป็นสินค้าออกขายได้ตลอดทั้งปี โดยตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของดอกเห็ดให้ได้สูง สามารถถอดตู้ออกมาทำความสะอาดได้ง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก ติดตั้งไม่ยาก สำหรับปริมาณผลผลิตต่อรอบการปลูก แบ่งระยะการออกดอกครั้งแรกภายใน 4-5 วัน จะได้ผลผลิตแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
สัปดาห์ที่ 1 เก็บผลผลิตได้ 3-5 กิโลกรัม
สัปดาห์ที่ 2 เก็บผลผลิตได้ 3 กิโลกรัม
สัปดาห์ที่ 3 ผลผลิตจะออกสม่ำเสมอ 2-3 ขีด ภายใน 3 วัน ก้อนเชื้อเห็ดประมาณ 120 ก้อน สามารถผลิตเห็ดได้เฉลี่ยต่อก้อน 3-4 ขีด หากก้อนเชื้อเห็ดสมบูรณ์ และอุณหภูมิเหมาะสมที่ประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส จะได้เห็ด 36-40 กิโลกรัมต่อวัน ต่อ 1 ตู้เพาะเห็ด
วิธีการเพาะเห็ดในตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ จะช่วยให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตมากกว่าการเพาะเห็ดแบบเดิม เป็นการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ สามารถจัดเรียงเห็ดให้หันปากถุงเข้าหากันในรูปตัวยู (U-Shape) ขนาดไม่เกิน 140 ก้อน จะช่วยเพิ่มความชื้นให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเห็ดในถุงเพาะ ส่งผลทำให้มีอัตราการเกิดขึ้นของดอกเห็ดสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ (ถุงเพาะเห็ดสมบูรณ์) และลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการเพาะเห็ดในปริมาณมากและขาดการดูแลอย่างทั่วถึง
ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ สามารถถอดประกอบและเคลื่อนย้ายได้ง่าย ส่งผลดีต่อการเปลี่ยนสถานที่เพาะเห็ดได้ตามต้องการ ไม่ต้องเสียเวลาพักโรงเรือนเพาะเห็ดเพื่อทำความสะอาด ป้องกันเห็ดติดเชื้อจากความไม่สะอาดของโรงเรือน และการจำกัดการเพาะเห็ดให้อยู่ในพื้นที่จำกัดแยกเป็นส่วนๆ ในตู้ จะส่งผลดีต่อการป้องกันการติดเชื้อจากศัตรูเห็ด เช่น ราดำ ราเขียว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมผลผลิตของเห็ดให้ได้ปริมาณตามความต้องการของตลาดในแต่ละช่วงได้ง่ายกว่าการเพาะเห็ดแบบโรงเรือนใหญ่ โดยมีโครงสร้างเป็นตู้อะลูมิเนียม ขนาดตู้กว้าง 80 เซนติเมตร สูง 100 เซนติเมตร พร้อมติดด้วยผนังวัสดุกันความร้อนที่ทำจาก PVC ทั้ง 4 ด้าน มีการจัดวางกล่องควบคุมบริเวณหน้าตู้อะลูมิเนียม เพื่อใช้สำหรับควบคุมการทำงานภายในตู้ ผู้ใช้สามารถเห็นตัวเลขของอุณหภูมิภายในตู้ และสามารถปรับตั้งอุณหภูมิได้ตามความต้องการให้เหมาะสมกับชนิดเห็ดที่เพาะได้
นอกจากนี้ การออกแบบด้วยวิธีเพิ่มความชื้นภายในตู้เพาะเห็ดแบบปล่อยน้ำลงมาแทนการสเปรย์น้ำเป็นฝอยเล็กจะช่วยประหยัดพลังงาน ลดเวลาการดูแล อุปกรณ์ที่ใช้ราคาประหยัดหาได้ทั่วไป ใช้พลังงานต่ำ (10 Watt/130 ถุงเพาะเห็ด) ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติได้รับการสนับสนุนให้เป็นนวัตกรรมสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรในระดับท้องถิ่น เช่น อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา อำเภอสะเดา จังหวัดชุมพร และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาตู้เพาะเห็ดสำหรับชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด
ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
เลขที่ 1 ถ.ราชดำเนินนอก ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา 90000
หมายเลขโทรศัพท์ : 0-7431-7100
หมายเลขโทรสาร : 0-7431-7123
โทรศัพท์มือถือ : 089-738-6158
Website : https://www.rmutsv.ac.th/