ค้นหา

ตอบโจทย์เกษตร 4.0 “เครื่องหยอดเมล็ดพืชและปุ๋ยอัจฉริยะ” แม่นยำตรงคำแนะนำ

กลุ่มวิจัยวิศวกรรมผลิตพืช สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม/กรมวิชาการเกษตร
เข้าชม 81 ครั้ง

นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล :
กลุ่มวิจัยวิศวกรรมผลิตพืช สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม
กรมวิชาการเกษตร

ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น :
เทคโนโลยีเครื่องหยอดเมล็ดพืชและหยอดปุ๋ยแบบอัตโนมัติพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ เป็นการก้าวไปสู่การทำเกษตรแบบแม่นยำในยุคการเกษตร 4.0 หรือเกษตรอัจฉริยะที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในขั้นตอนการเพาะปลูก เพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชของไทย เป็นการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช (Seed Hub) ตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมต่อยอดการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้เป็นสินค้าส่งออกในอนาคต สร้างความยั่งยืนให้กับภาคการเกษตรของไทย

ความสำคัญของปัญหา :
กระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชนั้น ขั้นตอนในการเพาะปลูกโดยการหยอดหรือหว่านเมล็ดถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ หากขั้นตอนการเพาะปลูกไม่มีประสิทธิภาพจะส่งผลต่อความงอกของเมล็ดและการเจริญเติบโตของพืชโดยตรง ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลงตามไปด้วย การเพาะปลูกโดยใช้เครื่องหยอดเมล็ดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันสามารถหยอดพืชได้เฉพาะอย่างเท่านั้น เนื่องจากเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิดมีขนาดเมล็ดที่ไม่เท่ากัน และมีอัตราการหยอดที่ไม่เท่ากัน คือ จำนวนเมล็ดต่อหลุม ระยะห่างระหว่างหลุม และระยะห่างระหว่างแถว เพื่อให้ได้อัตราหยอดตามการปลูกพืชแต่ละชนิดจึงทำให้เกิดความยุ่งยาก รวมทั้งการปรับเปลี่ยนอัตราการหยอดด้วยวิธีดังกล่าวยังไม่มีความแม่นยำอีกด้วย จำเป็นต้องดัดแปลงเครื่องหยอดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

จุดเด่นนวัตกรรม :
เครื่องหยอดเมล็ดพืชและหยอดปุ๋ยแบบอัตโนมัติสำหรับพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ สามารถปรับเปลี่ยนอัตราการหยอดเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยให้ได้ตรงตามคำแนะนำการปลูกพืชได้หลายชนิด เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง และถั่วเขียว โดยการควบคุมอัตราการหยอดเมล็ด/ปุ๋ย แบบอัตโนมัติด้วยระบบไมโครคอนโทรลเลอร์ เพื่อควบคุมความเร็วของรอบมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงจำนวน 2 ชุด คือ ชุดขับเพลาหยอดเมล็ดเพื่อควบคุมอัตราการหยอดเมล็ดพืช และชุดเพลาหยอดปุ๋ยเพื่อควบคุมอัตราการหยอดปุ๋ย โดยใช้เอ็นโค้ดเดอร์วัดความเร็วการเคลื่อนที่จากล้อขับ ซึ่งระบบการควบคุมจะทำการประมวลผลอัตราการหยอดเมล็ดพืชและปุ๋ยให้สัมพันธ์กับความเร็วของการเคลื่อนที่ของรถแทรกเตอร์

ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
กลุ่มวิจัยวิศวกรรมผลิตพืช สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม
กรมวิชาการเกษตร
โทรศัพท์ 0 2579 2757

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.kasetkaoklai.com/home/2022/08/%e0%b8%95%e0%b8%ad%e0%b8%9a%e0%b9%82%e0%b8%88%e0%b8%97%e0%b8%a2%e0%b9%8c%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%95%e0%b8%a34-0-%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%ab/