นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล :
ดร. วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์
เลขที่อนุสิทธิบัตร 10454
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น :
ราคายางพาราที่มีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาน้ำยางสด ซึ่งในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ลดลงในระยะยาวมากกว่าการปรับตัวสูงขึ้น ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเกษตรกรชาวสวนยาง แนวทางหนึ่งที่อาจช่วยแก้ไขปัญหาได้ในเชิงโครงสร้าง คือการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรผ่านการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ยางพารา การแปรรูปน้ำยางสดให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น การผลิตภัณฑ์กาวน้ำจากน้ำยางพารา โดยผลงานวิจัยนี้ได้นำน้ำยางพาราจากธรรมชาติ ผสมกับสารยึดติดในกลุ่มฟีนอลิกเรซินและกัมโรซิน ร่วมกับการใช้สารช่วยการยึดติด เพื่อให้กลุ่มสารอินทรีย์กับตัวทำละลายที่เป็นน้ำเข้ากันได้ดี ด้วยการปรับสูตรน้ำยางข้น เพื่อให้ทาบนวัสดุทำให้วัสดุแข็งตัวได้ และมีการเติมสารหน่วงไฟในกาวน้ำยาง ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กาวประเภทนี้สามารถเกิดไฟลามที่ช้า เพื่อประยุกต์ใช้ในการติดวัสดุให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างสามมิติ และวัสดุที่ได้มีความแข็งแรง มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับกาวสังเคราะห์ได้ นับว่าเป็นการสร้างให้เกิดผลิตภัณฑ์ยาง ส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางมากขึ้น รวมทั้งเกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราของไทย
ความสำคัญของปัญหา :
กาวสังเคราะห์โดยทั่วไป จะมีส่วนประกอบของสารที่เป็นพิษสูงคือ สารฟอร์มาลดีไฮด์ สารเคมีชนิดหนึ่งที่อยู่ในรูปแบบก๊าซ เป็นส่วนประกอบหนึ่งของฟอร์มาลีน สารชนิดนี้มักจะพบในกาว งานผลิตเฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ ผ้า และสีทาบ้าน ฟอร์มาลดีไฮด์เป็นอันตรายต่อร่างกายทั้งทำให้ระคายเคืองตา ผิวหนัง จมูกและคอ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง
จุดเด่นนวัตกรรม :
คือ การใช้น้ำยางพาราของประเทศไทยมาใช้ในการผลิตกาว โดยไม่ต้องนำเข้าพอลิเมอร์สังเคราะห์จากต่างประเทศ และไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นพิษสูง เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ ที่มีกลิ่นเหม็นรบกวน และมีอันตรายต่อสุขภาพ การใช้น้ำยางพาราในการผลิตกาว จะช่วยลดต้นทุนการผลิต เหนียวติดแน่น ไม่ติดไฟ และสามารถเชื่อมวัสดุที่มีรูพรุนเข้าด้วยกัน ทนต่อการบ่มเร่งได้ดี สามารถใช้ติดระหว่างผ้ากับผ้า ผ้ากับยาง และระหว่างวัสดุประเภทอื่นๆ เช่น กระเป๋า พื้นรองเท้าผ้าใบ เป็นต้น ช่วยเพิ่มมูลค่าของน้ำยางพารา เหมาะสำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เพื่อการส่งขายทั้งในและต่างประเทศ
ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ
บริษัท สามพิม จำกัด