ค้นหา

โชว์นวัตกรรมโรงเรือนผักอัจฉริยะพลังงานแสงอาทิตย์แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่

นางสาวขนิษฐ์ หว่านณรงค์ วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม
เข้าชม 34 ครั้ง

นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล :
นางสาวขนิษฐ์ หว่านณรงค์ วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม

ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น : โรงเรือนผักอัจฉริยะพลังงานแสงอาทิตย์แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นโรงเรือนอัจฉริยะอย่างง่าย ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา เหมาะสำหรับการปลูกพืชผักมีราคา แสดงถึงการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรมร่วมกับการทำเกษตรตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ให้ประสานกันอย่างกลมกลืน ใช้แรงงานน้อยลง เพิ่มคุณภาพของผลผลิตและปลอดสารพิษตกค้าง สามารถเพิ่มผลผลิตต่อหน่วย ลดต้นทุนการผลิต แก้ไขปัญหาด้านแรงงานภาคเกษตร สร้างรายได้เพิ่มกับเกษตรกร รวมถึงเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรได้ ตามนโยบายการเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ความสำคัญของปัญหา : ปัญหาของโรงเรือนทั่วไปคือ ความร้อนหรือความร้อนสะสมในภายโรงเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรือนที่ไม่มีการระบายความร้อน มีโอกาสที่อุณหภูมิภายในจะสูงถึง 50 องศา ซึ่งมีผลกับการเจริญเติบโตของพืชและคุณภาพผลผลิต และที่สำคัญคือ ผู้ปฎิบัติงานในโรงเรือนไม่สามารถทำงานได้นานเนื่องจากอากาศที่ร้อนจัดและจะต้องใช้น้ำในปริมาณมากในการเพาะปลูกพืช ดังนั้น การเลือกโรงเรือนจึงมีความสำคัญกับการปลูกพืช เนื่องจากโรงเรือนแต่ละแบบมีความสามารถในการระบายอากาศและลดอุณหภูมิได้ต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ทิศทางของลม ความสูงของโรงเรือน

จุดเด่นนวัตกรรม :
จุดเด่นคือ การเพาะปลูกพืชในโรงเรือนผักอัจฉริยะพลังงานแสงอาทิตย์แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ใช้น้ำน้อยมาก ประมาณต้นละ 4-5 ลิตร โดยไม่ต้องใช้คนงานดูแลมาก ซึ่งในระหว่างการลงกล้าปลูกผักในกล่องโฟมจนถึงการเก็บผักเติมน้ำแค่ 2 ครั้ง คือ เติมน้ำผสมปุ๋ยราว 2-3 สัปดาห์หลังลงกล้าและเติมน้ำเปล่าอีกประมาณ 4 สัปดาห์หลังลงกล้า โดยไม่ใช้สารเคมีเลย ภายใต้หลังคาโรงเรือนได้ติดตั้งระบบตาข่ายพรางแสงอัตโนมัติ เพื่อลดความร้อนที่จะสัมผัสกับผักโดยตรง ควบคุมมอเตอร์พรางแสงด้วยบอร์ดสมองกลฝังตัว Arduino uno ซึ่งอ่านค่าอุณหภูมิจากเซนเซอร์ในโรงเรือนและประมวลผลทุก 3 นาที ถ้าอุณหภูมิของอากาศภายในโรงเรือนสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส ตาข่ายพรางแสงจะทำงานอัตโนมัติ โดยเขียนโปรแกรมควบคุมสมองกลด้วยภาษาที่ง่ายต่อการเรียนรู้ของเกษตรกรและได้ออกแบบให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับควบคุมการทำงานของมอเตอร์พรางแสง เพื่อประหยัดค่าใช้ไฟฟ้าและลดการเดินสายไฟมาที่แปลง โดยตั้งเวลานาฬิกาที่ใช้ ปิด-เปิด ระบบควบคุมเฉพาะช่วงเวลา 6.00-20.00 น. เพื่อประหยัดแบตเตอร์รี่

โรงเรือนผักอัจฉริยะพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ถือเป็นนวัตกรรมทางด้านเกษตรอัจฉริยะ เพราะใช้ทั้งเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ สมองกลฝังตัว และพลังงานแสงอาทิตย์ใช้ไฟฟ้ากระแสตรง

ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร
โทรศัพท์ 0-2940- 5790 และ 089-154-3256

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.kasetkaoklai.com/home/2024/03/%e0%b9%82%e0%b8%8a%e0%b8%a7%e0%b9%8c%e0%b8%99%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%95%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%a1%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%9c%e0%b8%b1/