นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล :
นายสุภาษิต เสงี่ยมพงศ์
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น : ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวเพื่อการเกษตรกว่า 1.3 ล้านไร่ ส่วนมากอยู่ในภาคใต้ของประเทศ เช่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่เหล่านี้มีการใช้ลิงเพื่อเก็บมะพร้าวบนต้นที่มีความสูงเกินกว่าจะใช้แรงงานคน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตและภูมิปัญญาชาวบ้าน
ความสำคัญของปัญหา :
การใช้ลิงเก็บมะพร้าว เป็นการทารุณกรรมสัตว์ และมีการรณรงค์ให้ประเทศต่างๆ ปฏิเสธผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่ได้จากแปลงที่เก็บเกี่ยวโดยเป็นปัญหาที่ค่อนข้างส่งผลกระทบต่อผู้ปลูกมะพร้าวและผู้ประกอบการของไทยที่ส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าว ซึ่งการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้เครื่องปีนมะพร้าวแทนแรงงานลิงจะเป็นแนวทางหนึ่งที่สนับสนุนการแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งเกษตรกรจะได้เรียนรู้และปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ในการเก็บเกี่ยวมะพร้าว
จุดเด่นนวัตกรรม : เครื่องปีนมะพร้าวเป็นตัวช่วยเก็บผลผลิตแทนการใช้แรงงานลิง พัฒนามาจากเครื่องต้นแบบของประเทศอินเดีย เป็นอุปกรณ์ขาเหยียบไต่ต้นมะพร้าวขึ้นไป มีสองด้านซ้ายขวา แท่นเหยียบขนาด 14×15 เซนติเมตร ทำจากเหล็กเหนียว เชื่อมต่อกับเพลากลมที่ทำจากสแตนเลสยาว 90 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้เป็นสนิม ด้านล่างของขาเหยียบทั้งสองข้างมีเหล็กโค้งยาว 34 เซนติเมตร ทำหน้าที่โอบรอบโคนมะพร้าวเพื่อกดค้ำต้นมะพร้าวขณะที่ถ่ายน้ำหนักตัวลงไปเหยียบบนเครื่องปีน ด้านบนของขาเหยียบมีแผ่นยางกันกระแทก ทำหน้าที่กดรับขาไม่ให้หลุดออกจากเครื่องปีน ปลายสุดด้านบนมีมือจับสำหรับใช้ยกลวดสลิงเวลาปีนต้นมะพร้าว ลวดสลิงขนาด 2 หุน ยาว 260 เซนติเมตร เมื่อคล้องทำเป็นบ่วงรอบโคนมะพร้าวต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 35 เซนติเมตรขึ้นไป ทำหน้าที่รัดต้นมะพร้าวและพยุงขาเหยียบให้เกาะเกี่ยวต้นมะพร้าวระหว่างที่ใช้มือจับยกขาเหยียบให้ค่อยขยับขึ้นไป เครื่องปีนมะพร้าวของไทยมีความปลอดภัยกว่าเครื่องที่มาจากต่างประเทศ ด้วยระบบเข็มขัดล็อกควบคุมความปลอดภัยระหว่างใช้งาน ชุดอุปกรณ์รวม 2 ข้างซ้ายและขวามีน้ำหนัก 10 กิโลกรัม ศักยภาพของเครื่องสามารถปีนขึ้นลงต้นมะพร้าวด้วยความเร็วเพียง 0.14 เมตรต่อวินาที
ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม โทรศัพท์ 02-5792757