นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล :
นายสุริยกมล มณฑา
นางสาวนันทินา มูลประสิทธิ์
นางสาวปิยะดา สุวรรณดิษฐากุล
นายทิพย์จักร ณ ลำปาง
นางฉวีวรรณ คงแก้ว
นายสุรพิชญ ลอยกุลนันท์
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น : น้ำยางสดที่กรีดได้จากต้นยางพาราจะคงสภาพเป็นน้ำยางอยู่ได้เพียงระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่ผิวของอนุภาคยางและการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของแบคทีเรีย โดยใช้สารอาหารในน้ำยางสดทำให้อนุภาคยางรวมตัวกันเป็นก้อน เกิดบูดเน่ามีกลิ่นเหม็น ส่งผลทำให้เกษตรกรไม่สามารถนำน้ำยางสดไปแปรรูปเป็นยางแผ่นได้
ความสำคัญของปัญหา : ปัญหาการเสียสภาพของน้ำยางสดก่อนการแปรรูปเป็นยางแผ่นจะเกิดขึ้นได้ง่ายมากในพื้นที่กรีดยางที่ห่างไกลจากจุดแปรรูป/จุดรับซื้อน้ำยางหรือมีความลำบากในการขนส่งน้ำยางสด และต้องใช้เวลานานในการขนส่งน้ำยางสด ปัจจุบันเกษตรกรใช้แอมโมเนียหรือโซเดียมซัลไฟต์ (ยากันกรอก) เพื่อช่วยยืดอายุน้ำยางสดก่อนการแปรรูปเป็นยางแผ่น แต่แอมโมเนียเป็นสารเคมีที่ระเหยง่าย มีกลิ่นฉุน เป็นพิษต่อผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อม ส่วนโซเดียมซัลไฟต์ ช่วยยืดอายุน้ำยางสดได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง หากใช้ในปริมาณมากจะทำให้การจับตัวน้ำยางสดทำได้ยากและเกิดฟองอากาศในแผ่นยาง ส่งผลทำให้ยางแผ่นมีราคาถูกลง
จุดเด่นนวัตกรรม : สารยืดอายุน้ำยางสดเพื่อการผลิตยางแผ่น (สาร ThEPS) สามารถใช้ทดแทนแอมโมเนีย หรือ โซเดียมซัลไฟต์ (ยากันกรอก) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหากต้องการยืดอายุน้ำยางสดเป็นระยะเวลา 12, 36 และ 60 ชั่วโมง ก่อนการแปรรูปเป็นยางแผ่น ควรใช้สาร ThEPS ในปริมาณ 2 กรัม, 4 กรัม และ 8 กรัม ต่อกิโลกรัมน้ำยางสด ตามลำดับ ยางแผ่นรมควันที่ผลิตจากน้ำยางสดที่ผ่านการรักษาสภาพด้วยสาร ThEPS ได้รับการจัดชั้นคุณภาพยางเป็นยางแผ่นรมควันชั้น 3 และลดปริมาณยางตกชั้นลง ได้ถึงร้อยละ 9 ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าจากการขายยางแผ่นรมควันให้กับเกษตรกรได้และยางแผ่นรมควันที่ผลิตจากน้ำยางสดที่ผ่านการรักษาสภาพด้วยสาร ThEPS มีสมบัติทางกายภาพ สมบัติการคงรูปและสมบัติความแข็งแรง ใกล้เคียงกับยางแผ่นรมควันที่ผลิตจากน้ำยางสดที่ไม่ได้ใช้สารรักษาสภาพน้ำยาง
ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) สวทช.