ค้นหา

พลิกผืนนาเป็นเกษตรผสมผสาน สร้างรายได้ไม่ขาดมือ

เทคโนโลยีชาวบ้าน
เข้าชม 487 ครั้ง

ละออง ภูจวง อายุ 34 ปี ปัจจุบัน อยู่บ้านเลขที่ 71 หมู่ที่ 16 ตำบลขามเฒ่าพัฒนา อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์ 087-145-6552 เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ซึ่งได้ใช้ความพยายามฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคจนประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง เป็นแบบอย่างแก่เยาวชนและเกษตรกรทั่วไป

คุณละออง เล่าให้ฟังว่า หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อปี 2544 ได้ไปสมัครงานและเข้าทำงานที่บริษัท ไทยซัมมิกฮาร์เนส นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี แผนกวางแผนและควบคุมการผลิต ตำแหน่งพนักงานทั่วไป ทำหน้าที่แจกจ่ายเอกสาร และธุรการทั่วไป ทำงานได้ 9 ปี และระหว่างนี้ยังศึกษาต่อจนจบ ปวส. ที่โรงเรียนเทคโนโลยีศรีราชา (ภาคค่ำ 2 ปี) อีกด้วย

จุดเปลี่ยนอาชีพต่อสำนึกรักบ้านเกิด

ตลอดระยะเวลาของการทำงานที่บริษัท ไทยซัมมิกฮาร์เนส นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นไปด้วยดีด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจทำ เป็นที่ยอมรับของนายจ้าง และเป็นที่รักใคร่ของพี่ เพื่อน และน้องๆ ในบริษัท แม้การทำงานที่บริษัทจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น แต่ปัญหาเรื่องส่วนตัวเริ่มเกิดขึ้นด้วยสำนึกต่อผู้มีพระคุณที่ให้กำเนิดเริ่มเข้าสู่วัยชรา ไม่มีคนดูแล ประกอบกับไม่มีผู้เลี้ยงดูลูก ด้วยความสำนึกต่อผู้มีพระคุณและแผ่นดินเกิด จึงคิดที่จะกลับไปหางานทำที่บ้าน หาอาชีพที่จะต้องมีรายได้เพื่อนำมาจุนเจือครอบครัวหลังจากที่ต้องลาออกจากงานที่บริษัท

น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ที่บ้านเกิด

แนวคิดเริ่มแรกเมื่อเดินทางกลับบ้านเกิดคือ การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อหลวง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากคุณลุงท่านหนึ่งที่เล่าให้ฟังและใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการดำรงอยู่และปฏิบัติตนอยู่บนเส้นทางสายกลาง อยู่บนความพอเพียง ซึ่งหมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรซึ่งได้ฟังแล้วคิดว่าเราน่าจะทำได้ เพราะเราอยู่กับการทำการเกษตรมาตั้งแต่แรกเกิด จึงได้เริ่มศึกษาหาความรู้ตามหนังสือบ้าง ทางอินเตอร์เน็ตบ้าง พร้อมได้เล่าให้ครอบครัวฟังว่าอยากทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะช่วยให้ครอบครัวอยู่ได้แบบยั่งยืน แต่ทุกคนในครอบครัวไม่เห็นด้วย เพราะต้องมีการปรับพื้นที่โดยการปรับพื้นที่นามาขุดสระน้ำและให้เป็นสวน ซึ่งต้องใช้เงินลงทุน แต่ตนเองก็ไม่ละทิ้งแนวคิดทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากลาออกจากงานที่บริษัท ก็เริ่มทำความฝันตนเองให้เป็นจริง

เริ่มต้นด้วยการปลูกผักที่ตัวเองชอบกิน รวมถึงพืชผักสวนครัวต่างๆ ไปพร้อมกับการปลูกพลู ปลูกกล้วย และอื่นๆ ที่กินได้ เหลือกินก็นำไปขายให้ชาวบ้านและชุมชนใกล้เคียง ขณะเดียวกัน ก็ได้เข้ารับการฝึกอบรมตามโครงการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ส่วนราชการจัดขึ้น ทำให้ได้รู้วิธีการและเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ๆ จึงมีแนวคิดที่จะขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม โดยทุกครั้งที่ไปเรียนและเข้ารับการฝึกอบรมจะมีคำถามจากคนรอบข้างตลอดว่าจะเรียนไปทำไม แค่ปลูกผักใครๆ ก็ทำได้ วันหนึ่ง คุณลุงเล่าให้ฟังว่า มีการเปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการพระราชดำริฯ จำนวน 5 คน นับเป็นโอกาสอันดี จึงสมัครเข้าเป็นนักเรียนในโครงการพระราชดำริฯ หลักสูตรการดำรงชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงและองค์กรภาคี โครงการรณรงค์เพื่อน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสร้างภูมิคุ้มกันชุมชน ทำให้ได้ความรู้โดยมีหลักการสำคัญที่นำมาปรับใช้ในการทำการเกษตรคือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นขั้นตอนตามลำดับความจำเป็น ประหยัด การพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมความรู้ และเทคนิควิชาการสมัยใหม่ที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ยังมุ่งเน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ชุมชนสามารถวิเคราะห์ปัญหา และความต้องการของชุมชน สามารถวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ และความพร้อมของเกษตรกรได้ด้วยตนเอง โดยใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วมของเกษตรกร การทำการเกษตรเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ขณะเดียวกัน ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานเกษตรอำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม และได้รับการคัดเลือกเป็นวิทยากรต้นแบบ โครงการเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) จังหวัดมหาสารคาม กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ความสำเร็จการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

มีพื้นที่ทั้งหมด 12 ไร่เศษ เริ่มจากขุดสระน้ำในไร่นา 1 บ่อ แล้วปลูกพืชผัก ไม้ผล และอื่นๆ 2 ไร่ เมื่อมีรายได้จึงนำเงินมาขุดบ่อเพิ่มอีก 1 บ่อ ปัจจุบัน ขยายพื้นที่ปลูกออกเป็น 4 ไร่ 52 ตารางวา โดยปลูกพืชหลากหลายชนิด ดังนี้ 
1. กล้วย 120 กอ มี 20 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์กล้วยหอมขอนแก่น หอมไต้หวัน หอมทุเรียน กล้วยไข่กำแพงเพชร กล้วยนาก กล้วยหมูสีข้าวก่ำ กล้วยหมูสี กล้วยเขียวใหญ่ กล้วยเล็บมือนาง กล้วยหอมมอญ กล้วยตีบ กล้วยเทพนม กล้วยหักมุก กล้วยน้ำว้า กล้วยเต่า กล้วยพะโล และกล้วยงาช้าง
2. ข่า 350 กอ มี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ข่าเหลือง ข่าใหญ่ และข่าแดง ขายหน่อ 5-7 หน่อ/10 บาท และขายพันธุ์ถุงละ 25 บาท ต้นขจร 60 ต้น
3. มะนาวพันธุ์แป้นพิจิตร 60 ต้น และพันธุ์ตาฮิติ 2 ต้น ไม้ผล มี มะม่วง ขนุน มะขามหวาน มะขามเปรี้ยว และส้มโอ รวม 25 ต้น
4. พลู 200 หลัก ราคาขาย 100 ใบ/25-30 บาท มีรายได้ทุกวัน เฉลี่ยเดือนละไม่น้อยกว่า 3,000 บาท
5. ผลิตผักปลอดสารพิษหลายชนิด เช่น คะน้า ผักสลัด หอม ฯลฯ เพาะผักสวนครัวไว้สำหรับแจกจ่ายผู้ที่มาเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอีกจำนวนหนึ่ง
6. เลี้ยงปลา 2 บ่อ มีปลาธรรมชาติ และปล่อยปลาตะเพียน ปลานวลจันทร์ และปลาหมอ เลี้ยงหมูหลุม 4 ตัว เลี้ยงเป็ดและเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง ประมาณ 50 ตัว และทำนา 8 ไร่
นวัตกรรมที่นำมาใช้ในไร่นา คือได้คิดค้นสกีต่อพ่วงกับรถไถเดินตาม ประโยชน์ คือลดต้นทุนการผลิตไม่ต้องจ้างรถปั่น ไร่ละ 250 บาท ลดต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยไร่ละ 40 บาท ประหยัดเวลาจากการใช้รถไถเดินตามทำได้ 4-5 ไร่/วัน ถ้านั่งสกีทำได้ 8-10 ไร่/วัน และยังสะอาดเรียบร้อยไม่มีวัชพืช และยังนำปุ๋ย OM การผลิตสมุนไพรไล่แมลงมาใช้ในฟาร์มด้วย
ผลจากการดำเนินงานทำให้มีผลิตผลการเกษตรประเภทพืชผัก ปลา และสัตว์ปีก ที่เป็นอาหารที่ปลอดภัยในครัวเรือนและผลผลิตในส่วนที่เหลือยังนำไปจำหน่ายในชุมชน ทำให้มีรายได้ 400-500 บาท/วัน สำหรับสัตว์และไม้ผลทำให้มีรายได้เดือนละ 12,000-13,000 บาท ทั้งนี้ ตลอดปีทั้งปีมีรายได้เฉลี่ยปีละ 220,000 บาท ส่งผลให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขและยั่งยืน
คุณละออง บอกว่า ทุกครั้งที่มีเงินรายได้จากการจำหน่ายผลิตผล จะแบ่งออกเป็นส่วนๆ ส่วนหนึ่งเก็บออมไว้ อีกส่วนไว้เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวและเป็นเงินลงทุนในการทำการเกษตร และอีกส่วนจะพาครอบครัวไปศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จในแต่ละด้าน รวมถึงทุกครั้งเมื่อมีการจัดฝึกอบรมเพื่อให้รู้ว่าการทำการเกษตรจะต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เมื่อได้รับการถ่ายทอดแล้วก็นำเรื่องการคิดต้นทุนในการผลิตมาใช้ก่อนที่จะลงมือทำการผลิตพืชแต่ละชนิดก่อน

การขยายผลสู่ชุมชน
วิสัยทัศน์คือ “ยึดมั่นในปรัชญา, พัฒนาตามขั้นตอน, สอนให้พึ่งตนเอง” จากความสำเร็จในการทำเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อปี 2558 ได้รับการคัดเลือกจากจังหวัดมหาสารคาม ให้จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรอินทรีย์ ประจำตำบลขามเฒ่าพัฒนา          
ท่านที่เคารพครับ จะเห็นว่าคุณละอองเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความกตัญญูต่อพ่อแม่แล้วกลับมาฟื้นฟูอาชีพแบบดั้งเดิมให้เป็นอาชีพใหม่ที่ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และลดความเสี่ยงด้านการตลาดและราคา มีรายได้และผลตอบแทนที่ดี โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้มีความสุข ท่านที่สนใจจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณละออง ติดต่อได้ที่ โทร. 087-145-6552 หรือ Facebook ละออง ภูจวง หรือ ID Line : ละออง และ YSF มหาสารคาม

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_111104