ค้นหา

ส.เอทานอลหารือพลังงาน ดันอี20เป็นน้ำมันพื้นฐานลดนำเข้าช่วยเกษตรกร

แนวหน้าออนไลน์
เข้าชม 293 ครั้ง

นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ นายกสมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง เปิดเผยว่า สมาคมฯเตรียมหารือกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอให้รัฐกำหนดให้แก๊สโซฮอล์ อี 20 เป็นน้ำมันเกรดพื้นฐาน จากปัจจุบันใช้น้ำมันบี 5 เป็นน้ำมันพื้นฐาน และให้ยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 รวมทั้งเพิ่มส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์ อี 20 กับแก๊สโซฮอล์ 95 มากขึ้น เพื่อกระตุ้นการใช้แก๊สโซฮอล์ อี 20 ทำให้ปริมาณการใช้เอทานอลในประเทศเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.5 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มเป็น 6-7 ล้านลิตรต่อวัน จะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ และช่วยเหลือเกษตรในประเทศได้อย่างยั่งยืน
“ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานเอทานอลทั้งจากมันสำปะหลังและกากน้ำตาล (โมลาส) รวม 27 แห่ง กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านลิตรต่อวัน หากรัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ อี 20 เป็นน้ำมันพื้นฐานจะทำให้ปริมาณการใช้เอทานอลใกล้เคียงกับกำลังการผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ มีเงินช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศด้วย ทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศและสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงานในช่วงราคาน้ำมันผันผวน”นางสาวสุรียสกล่าว
ขณะนี้ราคาเอทานอลอยู่ที่ 27.54 บาทต่อลิตร ใกล้เคียงกับราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นฯ เนื่องจากในช่วงนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลง เทียบกับในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นจะอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร และสมาคมฯ ต้องการผลักดันให้ภาครัฐเปิดเสรีเอทานอลเป็นเกรดอุตสาหกรรม จากปัจจุบันเป็นเกรดเชื้อเพลิง หากรัฐอนุญาตเชื่อว่าโรงงานผลิตเอทานอลทั้ง 27 โรงจะมีความพร้อมเพื่อผลิตเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมได้ ปัจจุบันกลุ่มเบนซินมีปริมาณการใช้รวม 30 ล้านลิตรต่อวัน แบ่งเป็นแก๊สโซฮอล์อี 20 ประมาณ 5 ล้านลิตรต่อวัน แก๊สโซฮอล์ อี 85 ประมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน แก๊สโซฮอล์ 95 ประมาณ 5-7 แสนลิตรต่อวัน และที่เหลือเป็นแก๊สโซฮอล์ 91 และน้ำมันเบนซิน
“ประเทศไทยมีพื้นที่ในการปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง มากเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยในฤดูกาล 63/64 มีพื้นที่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง คิดเป็น 14% ของพื้นที่เกษตรกรรม เป็นการเพาะปลูกมันสำปะหลัง 35.09 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 80,000 ล้านบาทและการเพาะปลูกอ้อยปีละ 66.84 ล้านตันคิดเป็นมูลค่า 67,000 ล้านบาท รวมแล้วสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศด้วยเม็ดเงินมากกว่า 147,000 ล้านบาท การส่งเสริมการใช้ผลผลิตทางเกษตรภายในประเทศ จึงถือเป็นการกระจายรายได้ให้กับทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรม”นางสาวสุรียสกล่าว

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.naewna.com/business/670245