14 ส.ค.2565 – ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในฐานะประธานกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้กำชับหน่วยงาน กนป. ประกอบด้วยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก) ฝ่ายเลขานุการ กนป. กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงพาณิชย์ ดูแลราคาปาล์มน้ำมันให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้ผันผวน จากการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบมาเลเซียและอินโดนีเซียระยะนี้ โดยให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดำเนินมาตรการ กนป. ทั้งการส่งออกสต๊อกส่วนเกิน และเร่งรัดมาตรการสร้างมูลค่าเพิ่ม 8 ผลิตภัณฑ์เพื่อทดแทนไบโอดีเซลที่ใช้ลดลงเหลือ B5 ในช่วงวิกฤตพลังงาน
พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประธานอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ กล่าวว่า รองนายกฯได้มอบหมายให้ วิเคราะห์จัดทำข้อเสนอมาตรการเร่งด่วน ขับเคลื่อนปาล์มน้ำมันสู่พืชเศรษฐกิจมูลค่าเพิ่มแห่งอนาคตของไทย และสร้างสมดุลโครงสร้างราคาตลอดห่วงโซ่อุปสงค์อุปทานที่เป็นธรรมทั้งระบบ และรายงานผลดำเนินการ กนป. ปี 2563 ได้ผลักดันเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซล B10 เป็นดีเซลมาตรฐาน และส่งออกสต๊อกส่วนเกินในปี 2564 ได้สูงถึง 6 แสนตันเศษ โดยคาดว่าในปี 2565 นี้ ยอดส่งออกแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นราว 7 แสนตันเศษ
พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลที่มีการให้ผลักดันมาตรการเพิ่มมูลค่าน้ำมันปาล์มดิบแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (BCG) 8 ชนิด ได้แก่ น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานชีวภาพ น้ำมันจาระบีชีวภาพ น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า สารซักล้างชีวภาพ พาราฟิน สารจำกัดศัตรูพืชชีวภาพ น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ (กรีนดีเซล) และ นำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ
“เป็นนโยบายรัฐบาลพืชเศรษฐกิจต้นแบบ ที่ตอบโจทย์กระแสโลกแห่งอนาคต โดยอยู่ระหว่างการส่งเสริมให้มีการลงทุนผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels – SAF) ที่สามารถนำน้ำมันไบโอดีเซล เอทานอลจากมันสำปะหลังและกากอ้อย รวมทั้งน้ำมันพืชรีไซเคิล มาใช้เป็นวัตถุดิบในการทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่สามารถลดอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากถึง 80 % โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการจัดสัมมนาสร้างการรับรู้และชักชวนนักลงทุนไทยดันผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมัน 8 ชนิด ส่งออกสู่ตลาดโลกและที่สำคัญผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลาง SAF ของภูมิภาคในปี 2566” พล.ต.อ. ดร.ธรรมศักดิ์ ระบุ