ศ.ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หัวหน้าโครงการบริหารจัดการภัยแล้งพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ด้วยวิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน เผยว่า พื้นที่ 3 หมู่บ้านในเขต ต.ชุมแสง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ได้แก่ บ้านตามา บ้านสุขสำราญ บ้านสุขวัฒนา เป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งทุกปี เกิดอุปสรรคในการทำเกษตรกรรม ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ต้องการนวัตกรรมที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหา และพัฒนารูปแบบการทำเกษตรให้ตรงกับบริบทของชุมชน ให้เกิดประโยชน์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ ทั้งด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การจัดการผลผลิตทางการเกษตร การทำการเกษตรนอกฤดูกาลเพาะปลูก และการต่อยอดการใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โครงการบริหารจัดการภัยแล้งพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ด้วยวิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน จึงเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยงานพัฒนา หน่วยงานภาคปฏิบัติในพื้นที่ และหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนผลผลิตการวิจัย ร่วมกับคณะนักวิจัยจาก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ได้ร่วมมือกันสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการภัยแล้งให้กับพื้นที่เป้าหมาย จนประสบความสำเร็จ อันนำมาซึ่งการส่งมอบให้ไปใช้ในการประกอบอาชีพของกลุ่ม รวมถึงช่วยเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ให้เป็นที่รู้จัก และได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมจากการวิจัยร่วมกันต่อไป
สำหรับนวัตกรรมที่ได้รับการส่งมอบในครั้งนี้ ประกอบด้วย 4 กิจกรรม 12 นวัตกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 : การพัฒนานวัตกรรมบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย ระบบการจัดสรรน้ำตามศักยภาพน้ำต้นทุน 1 ชุดข้อมูล, ชุดข้อมูลการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร 1 ชุดข้อมูล, ชุดระบบสูบน้ำด้วยพลังงานเเสงอาทิตย์เเบบเคลื่อนย้ายได้เพื่อการเกษตร 3 ชุด, ชุดนวัตกรรมสูบน้ำและกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ 3 ชุด และชุดนวัตกรรมหน่วยเก็บกักน้ำย่อยและกระจายน้ำและสูบและจ่ายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ 3 ชุด
กิจกรรมที่ 2 : การพัฒนานวัตกรรมในการยกระดับการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง ประกอบด้วย ชุดระบบอบแห้งด้วยรังสีอินฟราเรดเเบบถังหมุนชนิดเคลื่อนย้ายได้ระบบไฮบริด 1 ชุด และชุดนวัตกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มคุณภาพข้าวเปลือกและเมล็ดพันธุ์ 1 ชุด กิจกรรมที่ 3 : การพัฒนานวัตกรรมเกษตรแบบผสมผสานเพื่อแก้ปัญหาความยากจนด้วยระบบสมาร์ทฟาร์ม ประกอบด้วย นวัตกรรมเกษตรแบบผสมผสาน 1 ชุด
กิจกรรมที่ 4 : การส่งเสริมนวัตกรรมชุมชนพึ่งตนเองและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ประกอบด้วย ชุดระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชนพึ่งตนเอง 1 ชุด, ชุดเตาเผาชีวมวล 1 ชุด, ชุดเครื่องผลิตน้ำส้มควันไม้ 1 ชุด และชุดผลิตปุ๋ยจากผลิตภัณฑ์เหลือทิ้งจากป่าชุมชน 1 ชุด.