ค้นหา

อาหารสัตว์โคเนื้อ-กระบือ ต้นทุนต่ำ จากวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตร

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 559 ครั้ง

การเลี้ยงสัตว์ต้นทุนส่วนใหญ่ประมาณ 70% เป็นค่าอาหารสัตว์ที่ไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบราคาแพงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นแหล่งโปรตีน ส่งผลให้ต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นเกษตรกรได้รับผลตอบแทนลดลง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงให้ทุนอุดหนุนภายใต้โครงการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ ประจำปี 2564 (การพัฒนาชุมชนพึ่งตนเองตามแนวทางพระราชดำริ) ตามโครงการวิจัย “การพัฒนาอาชีพและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของคนในชุมชนด้วยนวัตกรรมการผลิตอาหารสัตว์ต้นทุนต่ำสำหรับโคเนื้อและกระบือ” โดยคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

รศ.ดร.นิราวรรณ กุนัน สาขาวิชา สัตวศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี หัวหน้าโครงการฯเผยว่า ปัจจุบันอาหารสัตว์มีราคาสูงมาก ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทางด้านผลตอบแทนหรือผลกำไร คณะวิจัยซึ่งมาจากหลากหลายสาขา ทั้งจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ อุดรธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีองค์ความรู้ของการผลิตอาหารสัตว์ใช้เอง โดยเน้นนำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เช่น เศษเหลือทิ้งทางการเกษตร และผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมเกษตร มาปรับปรุงคุณภาพให้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีสูตรการผลิตที่ไม่เหมือนกันตามแต่ชนิดของวัตถุดิบของแต่ละชุมชน

ทั้งนี้คณะวิจัยได้มีการนำองค์ความรู้เข้าไปช่วยในการผลิตโคขุนของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ อ.หนองแสง จ.อุดรธานี ซึ่งมีเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีศักยภาพในการนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์หลายชนิด เช่น ต้นมันสำปะหลัง กากมันสำปะหลัง ยอดอ้อย เมล็ดยางพารา ฟางข้าว เป็นต้น โดยคณะนักวิจัยได้ทำการเก็บตัวอย่างวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อวิเคราะห์คุณภาพในห้องปฏิบัติการ ก่อนทำการประกอบสูตรอาหารข้น พร้อมทั้งพัฒนาสูตรอาหารหมักที่ใช้สัดส่วนของใบและหัวมันสำปะหลังหมักที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงขุนโค พร้อมทั้งอบรมเพิ่มทักษะความชำนาญในการผลิตอาหารสัตว์เพื่อใช้เองภายในกลุ่มเกษตรกรพบว่า เกษตรกรสามารถดำเนินการผลิตอาหารข้นและอาหารหมักเพื่อใช้เองภายในฟาร์มสำหรับเลี้ยงขุนโคของสมาชิก

หัวหน้าโครงการฯกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันเกษตรกรสามารถผลิต อาหารข้น เพื่อใช้เองทดแทนการซื้ออาหารสำเร็จรูป ทำให้มีต้นทุนลดลง กก.ละ 2.60 บาท หรือคิดเป็น 13,000 บาท/รอบการผลิต (4 เดือนต่อโค 24 ตัว) และสามารถใช้ หัวและใบมันสำปะหลังหมัก ทดแทนอาหารข้นได้มากกว่า 50% ทำให้มีต้นทุนลดลง กก.ละ 6.40 บาท หรือ 41,000 บาท/รอบการผลิตส่งผลให้เกษตรกรมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยการหมุนเวียนเอาเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรในพื้นที่มาเพิ่มมูลค่าโดยใช้เป็นอาหารสัตว์

ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนเพิ่มเติมจาก วช.ในปี 2565 เพื่อต่อยอดงานวิจัยไปสู่พื้นที่อื่นๆ เช่น วิสาหกิจชุมชนใน จ.หนองคาย ซึ่งจะมีการพัฒนาแบบครบวงจร ทั้งเรื่องการปรับปรุงคุณภาพอาหารสัตว์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ เนื้อโคและมีการเชื่อมโยงด้านการตลาด.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/2475207