ค้นหา

สวก.นำร่อง จ.ราชบุรี ต้นแบบขับเคลื่อนโครงการ Sandbox มุ่งควบคุมโรคและฟื้นฟูฟาร์มสุกร

Ongben
เข้าชม 345 ครั้ง

ราชบุรี – สวก.ดันโครงการ Sandbox วางระบบคุมโรคและฟื้นฟูฟาร์มหมู หลังเจอผลกระทบโรคปากและเท้าเปื่อย และอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เผยใช้ จ.ราชบุรีนำร่องมุ่งศึกษาแก้ปัญหา หาสาเหตุแท้จริง แลวิธีแก้ไข ก่อนขยายผลปรับใช้กับการเลี้ยงสุกรทั่วประเทศ

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ดันโครงการ Sandbox วางระบบควบคุมโรคและฟื้นฟูฟาร์มสุกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร นำร่องจังหวัดราชบุรีเป็นต้นแบบ มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหาร ด้วยนโยบาย BCG MODEL พร้อมเป็นตัวอย่างการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยประยุกต์ใช้หลักการคอมพาร์ตเมนต์ในพื้นที่ต้นแบบเพื่อเลี้ยงสุกรให้ปลอดโรค ทดสอบวัคซีนและชุดตรวจสอบโรคที่พัฒนาขึ้นจากงานวิจัยของ สวก. เป็นเครื่องมือเฝ้าระวัง และควบคุมป้องกันโรค

จากผลการศึกษาความเป็นไปได้การจัดตั้งเขตคอมพาร์ตเมนต์การเลี้ยงสุกรปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งได้รับงบประมาณจาก สวก. เมื่อปี 2561 พบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะจัดตั้งคอมพาร์ตเมนต์เพื่อเลี้ยงสุกรปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในประเทศไทย แต่ต้องเริ่มทำในระดับเล็ก เช่น Integrated compartment หรือ Partially integrated/ single compartment และต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างเคร่งครัด เช่น ต้องไม่นำเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย ที่มีพันธุกรรมแตกต่างจากวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคเข้ามาในพื้นที่อย่างเด็ดขาด เพื่อให้ฟาร์มคงสถานะปลอดโรคไว้ได้

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) กล่าวถึงการขับเคลื่อน Sandbox ด้วยนโยบาย BCG MODEL ว่า สิ่งที่ สวก.ขับเคลื่อนเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกับ BCG MODEL โดยเฉพาะในจังหวัดราชบุรี ที่มีปัญหาโรคระบาดโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรนั้นเป็นเรื่องสำคัญของเกษตรกร ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เลือกจังหวัดราชบุรีเป็นต้นแบบวางระบบศึกษาวิจัยในลักษณะ Sandbox จึงมีความสำคัญมาก เพราะต้องทดลองทำในพื้นที่ต้นแบบก่อน เพื่อเห็นปัญหา สาเหตุที่แท้จริง และหาวิธีแก้ไขได้

ในมุมของ Sandbox เรามองถึงพ่อแม่พันธุ์ที่ปลอดโรค การควบคุม การเคลื่อนย้ายสัตว์ การจัดการตั้งแต่วัคซีน การเฝ้าระวัง มาตรการลดความเสี่ยงต่างๆ เช่น กำจัดของเสียและซากสุกรที่เป็นโรคในฟาร์ม รวมถึงกำหนดกฎระเบียบการเข้าออกฟาร์มของผู้คนทั่วไป สิ่งเหล่านี้จะเป็นมาตรการเบื้องต้นที่ได้จากงานวิจัย และจะนำไปขยายผลต่อพื้นที่อื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาโรคปากและเท้าเปื่อยและโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

ด้านนายยุคล ลิ้มแหลมทอง ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG MODEL สาขาเกษตร กล่าวถึงนโยบาย BCG MODEL ว่าเป็นแนวคิดการพัฒนาแบบใหม่ โดยให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดการสร้างมลพิษ ในภาพของ BCG MODEL เรามองว่า ทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยนำเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาเศรษฐกิจ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรและอาหาร สุขภาพเละการแพทย์ พลังงานเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

กลุ่มอุตสาหกรรมหลักต่างๆ จะได้รับการพัฒนาโดยใช้เงื่อนไขของ BCG MODEL ซึ่งในภาพรวมของการเกษตรนั้น ตั้งเป้าเอาไว้ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง สิ่งที่สะท้อนกลับมาคือ เห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ปัญหาระยะยาว รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าสินค้า การเชื่อมโยงระบบการตลาด ทำให้เกิดความเข้มแข็ง ความยั่งยืนของชุมชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ

สิ่งที่อยากเห็นจากแนวคิดนี้อีก คือการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจด้วยกัน หมายถึงทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา เข้ามามีบทบาทร่วมกันเพื่อดูแลเกษตรกร เช่น กรณีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย ได้มีการบูรณาการจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่

ขณะที่นายสัตวแพทย์บุรินทร์ สรสิทธ์สุขสกุล ปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี กล่าวเสริมถึงโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ว่า เป็นโรคที่อุบัติใหม่ในบ้านเราที่ก่อความเสียหายในสุกรมากถึง 90-100 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องเข้มงวดเฝ้าระวังและป้องกันโรคไม่ให้เข้าสู่ฟาร์ม ทั้ง 2 โรคเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส จึงต้องมีระบบป้องกันที่ดี เช่น ระบบป้องกันทางชีวภาพ หรือที่เรียกว่า biosecurity เพื่อป้องกันเชื้อจากแหล่งต่างๆ เข้าสู่ฟาร์ม

อีกทั้งต้องมีการทำลายเชื้อโรค ดูแลเฝ้าระวัง และตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรค การศึกษาวิจัยนี้เป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วน ได้แก่ สวก. กรมปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมผู้เลี้ยงสุกร จังหวัดราชบุรี ที่ได้ร่วมมือกันแก้ปัญหาโรคระบาดในสุกร ทำให้เกิดการเลี้ยงสุกรที่ปลอดภัยยั่งยืน

ทั้งนี้ ก่อนเกิดโรคระบาดในสุกรของจังหวัดราชบุรี มีปริมาณสุกรแม่พันธุ์ประมาณ 220,000 ตัว เมื่อใช้หลักการ Sandbox เข้ามาช่วยวางระบบป้องกัน คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณแม่พันธุ์สุกรกลับมาเลี้ยงได้ราว 100,000-150,000 ตัว โครงการ Sandbox วางระบบการควบคุมโรคและฟื้นฟูฟาร์มสุกร ราชบุรี จึงนับเป็นเรื่องใหญ่ที่สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เล็งเห็นและให้ความสำคัญ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืนให้เกษตรกรและสามารถติดตามแนวคิดงานวิจัยโครงการ Sandbox วางระบบการควบคุมโรคและฟื้นฟูฟาร์มสุกรราชบุรี เพิ่มเติม ผลงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจ และการพัฒนา และทุนวิจัยได้ที่ สวก. https://www.arda.or.th/

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://mgronline.com/local/detail/9650000080726