ค้นหา

เครื่องตรวจสอบคุณภาพทุเรียนโดยไม่ทำลายตัวอย่าง

สำนักข่าวอินโฟเควสท์
เข้าชม 561 ครั้ง
บางกอก ทริลเลียนจับมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน พัฒนานวัตกรรมเครื่องตรวจสอบคุณภาพทุเรียนโดยไม่ทำลายตัวอย่าง

ทุเรียนนับเป็นผลไม้ที่เป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคชาวไทยและต่างประเทศ ในแต่ละปีทุเรียนเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในอันดับต้นๆ เลยก็ว่าได้ ซึ่งผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกช่วงที่ผ่านมา มีผลผลิตเพิ่มขึ้น จาก 575,542 ตัน ในปี 2564 เป็นจำนวน 729,110 ตัน ในปี 2565 และตลาดส่งออกหลักของไทยยังคงเป็นประเทศจีน แต่ปัญหาที่มักจะพบของทุเรียน คือ สุกไม่ทั่วกันบ้าง ตัดขายในขณะที่ต้นทุเรียนอายุยังไม่ถึง 120 วันบ้าง ทำให้พ่อค้าแม่ค้าต้องทิ้งสินค้าไปเนื่องจากสภาพภายในอกไม่มีอะไรที่บ่งบอกว่าสุกหรือไม่หวาน

บริษัท บางกอก ทริลเลียน จำกัด จึงได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม พัฒนาเครื่องมือ NIR ( Near Infared Technology) เพื่อวัดคุณภาพของทุเรียนหรือ Taste Score ทั้งในด้านค่าความแห้ง ค่าความหวาน และค่าความแน่นเนื้อของทุเรียนแกะเนื้อ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในการเลือกซื้อทุเรียนว่าจะได้เนื้อทุเรียนที่หวาน อร่อยตามที่คาดหวัง โดยการพัฒนาอุปกรณ์ NIR นี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ บริหารโครงการโดยวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคกลาง

นางคำนึง  พูลเถียะ  ประธานที่ปรึกษา บริษัท บางกอก ทริลเลียน จำกัด ผู้ประกอบการทุเรียน มากกว่า 20 ปีเจ้าของแบรนด์ บ้านทุเรียนชาววัง  เปิดเผยถึงความเป็นมาในการพัฒนาเครื่องมือตรวจว่าค่าคุณภาพของทุเรียน ว่า  การบริโภคทุเรียนในประเทศจะมีเป็นลักษณะที่เป็นลูกสด   ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถเห็นคุณภาพเป็นคุณภาพภายในเนื้อทุเรียนก่อนตัดสินใจซื้อ   ทำให้มักประสบปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ   ได้ทุเรียนอ่อน  สุกไม่เสมอกัน  หวานไม่เท่ากัน   ขณะเดียวกัน  ก็มีการเสนอขายแบบแกะเนื้อล้วนเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค แต่อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องคุณภาพภายในเนื้อทุเรียนแกะเนื้อล้วนก็ยังประสบปัญหา ผู้บริโภคเองไม่สามารถตัดสินใจเลือกตามคุณภาพรสชาติที่ต้องการได้ เนื่องจากพิจารณาจากรูปลักษณะภายนอกและคำแนะนำจากผู้จัดจำหน่ายเท่านั้น

หากต้องการทราบคุณภาพภายในทุเรียนแกะเนื้อ จะต้องนำเนื้อทุเรียนไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งทำให้เสียเวลา และต้องทำลายตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์ Dried Matter ปกติจะใช้เวลา 2-3 วัน การทำลายตัวอย่าง ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบการทุเรียน ทุเรียนที่ตรวจสอบไม่สามารถเอาไปขายได้ จากการศึกษานวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ที่ผ่านมาพบว่า มีโครงการของหลาย ๆ มหาวิทยาลัยที่มีการวิจัยในการนำ เครื่อง NIR Spectrometer มาวิเคราะห์ การสุกของทุเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องที่พัฒนาและสร้างขึ้นมาเฉพาะสำหรับทุเรียนแกะเนื้อ ของภาควิชาวิศวกรรมการอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดนครปฐม

บริษัท บางกอก ทริลเลียน จำกัด  จึงได้ร่วมมือกับ รศ.ดร.รณฤทธิ์ ฤทธิรณ หัวหน้าห้องปฏิบัติการ Near Infrared (NIR) Technology คณะวิศวกรรมศาสตร์  กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์    ในการพัฒนานวัตกรรมที่พร้อมใช้งาน เพื่อวัดค่าความอร่อยของทุเรียนแกะเนื้อ หรือ Taste Score  และเกิดบริการใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของธุรกิจทุเรียนในประเทศ ตั้งแต่เกษตรกร  ผู้ประกอบการค้าขายทุเรียนจนถึงมือผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคทุเรียนแกะเนื้อมีความมั่นใจในคุณภาพของทุเรียน

ทางด้าน รศ.ดร.รณฤทธิ์  ฤทธิรณ  หัวหน้าห้องปฏิบัติการ Near Infrared (NIR) Technology คณะวิศวกรรมศาสตร์  กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ผู้พัฒนาเครื่องมือ NIR  กล่าวว่า เทคโนโลยี Near Infared  ได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการทุเรียน ได้ใช้ประโยชน์ในการวัดค่าความสุก ค่าความหวาน และค่าความแน่นเนื้อของทุเรียน  โดยเครื่องจะต้องแนบกับเนื้อทุเรียนโดยผ่านฟิล์มที่ห่อหุ้มบนภาชนะบนกล่องหรือถาด  เครื่องจะมีขนาดพอเหมาะสำหรับให้ผู้ใช้ถือกะทัดรัด  ไม่เทอะทะ  ในการออกแบบเครื่องตรวจสอบคุณภาพทุเรียนแกะเนื้อ จะออกแบบให้หัววัดมีลักษณะที่ราบแนบไปกับเนื้อทุเรียน ตัวเครื่องมีลักษณะเป็นเครื่องแบบพกพา อาศัยการทำงานด้วยแบตเตอรี่ มีสวิตซ์วัดบริเวณด้ามจับเพื่อสะดวกในการวัด และแสดงผลผ่านแอพลิเคชันทางหน้าจอมือถือ หรือแทบเลต เพื่อจัดการข้อมูลผลการวิเคราะห์ได้สะดวก โดยใช้ฟังก์ชันความสามารถของโทรศัพท์มือถือ  เครื่องวิเคราะห์นี้จะสามารถวัดค่าการดูดกลืนแสงในช่วงคลื่นสั้น ทำให้เครื่องสามารถแสดงค่าคุณภาพของทุเรียนตามที่ต้องการได้

เครื่อง NIR จะทำงานโดยการเปิดสวิตซ์ ON-OFF จากนั้นทำการเชื่อมต่อ Bluetooth กับแอพลิเคชัน Bio Insight บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับเครื่อง NIR โดยแอพลิเคชันที่สร้างขึ้นประกอบไปด้วยค่าความแห้งของเนื้อทุเรียน ค่าความหวาน จะมีหน่วยเป็นบริกซ์ และค่าความแน่นเนื้อของทุเรียน หน้าจอการวัด ซึ่งสามารถระบุชื่อตัวอย่าง และระบุให้บันทึก/ไม่บันทึกข้อมูลในโทรศัพท์ได้ โดยเมื่อกด SCAN ครั้งแรก เครื่องจะทำการสอบเทียบเครื่องก่อน เมื่อสอบเทียบเรียบร้อย ก็จะสามารถใช้วัดตัวอย่างได้ โดยการนำหัววัดไปแนบให้สนิทกับตัวอย่าง แล้วกดวัดโดยกดปุ่มที่หน้าจอโทรศัพท์ (SCAN) หรือกดสวิตซ์วัดที่ตัวเครื่องก็ได้ เมื่อกดวัดตัวอย่าง หน้าจอจะแสดงผลการวิเคราะห์ฯ บนหน้าจอทั้ง 3 ค่าพร้อมๆ กัน ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาที

บริษัท บางกอก ทริลเลียน จำกัด ได้เปิดให้บริการ ” ทุเรียนอร่อยดังใจ ใช้ NIR Technology ” ทั้งการนำเครื่องตรวจวัดคุณภาพทุเรียน ไปบริการให้ถึงร้านค้าผู้ประกอบการทุเรียน หรือให้บริษัทฯ จัดส่งทุเรียนที่ผ่านการวัดคุณภาพทุเรียนเรียบร้อยแล้วจัดส่งให้ผู้ประกอบการทุเรียนเพื่อสร้างอาชีพให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่จำหน่ายทุเรียนแกะเนื้อที่ได้คุณภาพ ช่วยสร้างรายได้ สร้างความมั่นคง มีเงินเหลือมากขึ้น สร้างการรวมกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าทุเรียนแกะเนื้อล้วนคุณภาพสูง ลดขยะทุเรียนอ่อน ลดขยะเปลือกทุเรียนทิ้งรวมกับขยะทั่วไป จะทำให้คนในสังคมเริ่มตระหนักถึงการซื้อ-ขาย ทุเรียนดีมีคุณภาพ สร้างวัฒนธรรมการซื้อ-ขายใหม่ที่เป็นธรรม ตลอดจนชาวสวนที่ต้องการขยายตลาดทุเรียนแก่จัด จะมีตลาดรองรับที่เพิ่มขึ้น จากการนำเครื่องตรวจวัดคุณภาพทุเรียนมาใช้งานคาดว่า จะส่งผลให้ผู้บริโภคประทับใจในคุณภาพทุเรียนอย่างต่อเนื่อง

ผู้สนใจรับบริการเครื่อง NIR เพื่อตรวจวัดคุณภาพทุเรียน ติดต่อสอบถามได้ที่ สรายุทธ นุ่มกำเหนิด มือถือ 087-922-6977

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.ryt9.com/s/prg/3352560