มนัญญาเผยทิศทางพัฒนา อ.ส.ค. ปี’66 หนุนก้าวสู่องค์กรชั้นนำด้านอุตสาหกรรมนมที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เตรียมดันนมไทย-เดนมาร์คบุกตลาดจีนและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน วางเป้ายอดขายทะลุหมื่นล้าน ด้าน อ.ส.ค.ได้ฤกษ์เปิดบ้านหลังใหม่ รองรับการก้าวสู่ผู้นำอุตสาหกรรมนมไทย-อาเซียน
วันที่ 31 สิงหาคม 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดอาคารสำนักงานองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงเทพฯ โดยมี นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ ประธานกรรมการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และผู้บริหารระดับสูง อ.ส.ค. และพนักงานให้การต้อนรับ ณ สำนักงาน อ.ส.ค.กรุงเทพฯ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
รมช.มนัญญากล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการก่อสร้างอาคารใหม่สำนักงาน อ.ส.ค.กรุงเทพฯแห่งนี้ ซึ่งถือเป็นอีกก้าวอย่างสำคัญของ อ.ส.ค.ที่ชี้วัดให้เห็นถึงความมั่นคงแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน อ.ส.ค.เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค หรือ นมวัวแดง เป็นหน่วยงานที่ต้องดูแลส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอยู่ทั่วประเทศ และได้พัฒนาตัวเองเป็นองค์กรชั้นนำด้านอุตสาหกรรมนมที่ได้รับการยอมรับทั้งในและกลุ่มประเทศอาเซียน ครองสัดส่วนการจำหน่ายในตลาดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ไม่ต่ำกว่าปีละ 9,000 ล้านบาท และ อ.ส.ค.มีการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน อ.ส.ค.ยังไม่มีที่ทำการของตัวเอง ต้องเช่าพื้นที่อาคารขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เป็นอาคารสำนักงาน อ.ส.ค.กรุงเทพฯ ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยจำกัดไม่สามารถรองรับการขยายตัวของบุคลากรและกิจกรรมของ อ.ส.ค.ที่เติบโตขึ้นในอนาคต ประกอบกับ อ.ส.ค.ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่ที่มีมูลค่ากว่า 9 ล้านบาทต่อปีได้อีก จากปัญหาดังกล่าว อ.ส.ค.จึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงาน อ.ส.ค.แห่งใหม่ขึ้น เพื่อใช้เป็นสำนักงานถาวรและมีพื้นที่กว้างขวางไว้ใช้ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้สะดวก ง่าย และรวดเร็วกว่าเดิม
รมช.มนัญญากล่าวต่อไปว่า จะเร่งขับเคลื่อน อ.ส.ค.ให้เป็นองค์กรชั้นนำด้านอุตสาหกรรมนมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งให้ยึดมั่นแนวทางตลาดสมัยใหม่ เช่น ตลาดระบบออนไลน์และเร่งปรับแผนส่งเสริมการขายและการตลาดให้มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค เศรษฐกิจและสถานการณ์การแข่งขันมากขึ้น เพื่อรักษาส่วนแบ่งในตลาดและขยายอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คทั้งในและต่างประเทศในอนาคต
รวมทั้งขับเคลื่อนองค์กรและผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คให้มียอดจำหน่ายเติบโตอย่างมั่นคงครองสัดส่วนในตลาดในประเทศแบบยั่งยืนก้าวสู่แบรนด์อันดับที่ 1 ในใจผู้บริโภคชาวไทย (Top of Mind) ได้ในไม่ช้า
ทั้งนี้ นอกจากตลาดภายในประเทศแล้ว ยังได้ให้นโยบายให้เร่งขยายช่องทางธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มเติมในตลาดเป้าหมายสำคัญคือ ประเทศจีน ประเทศเวียดนาม และกลุ่มประเทศมุสลิม เพื่อเพิ่มยอดการส่งออกผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค โดยเฉพาะจีนและเวียดนาม ถือเป็นประเทศที่น่าสนใจของนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากเป็นประเทศที่กำลังซื้อสูงและมีสัดส่วนประชากรเยอะ รวมทั้งเร่งรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการดื่มนมโคสดแท้ 100% ไม่ผสมนมผง จากน้ำนมโคที่ได้จากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประเทศไทย
ตลอดจนสืบสาน รักษา ต่อยอดอาชีพการเลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นอาชีพทรงคุณค่าที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) พระราชทานไว้ให้แก่เกษตรกรไทย ได้มีอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญในการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จนถึงมือผู้บริโภคต้องได้คุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้ประชาชนจดจำว่า นมวัวแดง นมไทย-เดนมาร์ค นมทุกหยดผลิตจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม
ด้านนายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน อ.ส.ค.ได้พัฒนาตัวเองเป็นองค์กรชั้นนำด้านอุตสาหกรรมนมที่ได้รับการยอมรับทั้งในและกลุ่มประเทศอาเซียน ครองสัดส่วนการจำหน่ายในตลาดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ สำหรับสำนักงานแห่งใหม่นี้สร้างบนพื้นที่ 3 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา ในพื้นที่ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดปทุมธานี
กรมส่งเสริมสหกรณ์ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1.พื้นที่ส่วนอาคารสำนักงานสูง 3 ชั้น 2.พื้นที่ส่วนลานจอดรถและสวนหย่อม 3.พื้นที่ส่วนโรงอาหารและร้าน Thai-Denmark Milk Shop รวมทั้งได้จัดพื้นที่ขนาดใหญ่รองรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อแสดงให้ทราบถึงกระบวนการทำงานแต่ละด้าน เช่น การส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนม และกิจกรรมส่งเสริมด้านการตลาดและการขาย และการจัดแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ตราไทย-เดนมาร์ค ตั้งแต่นมกล่องแรกในรอบ 60 ปี ที่ผ่านมาจนถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในปัจจุบันอีกด้วย