ค้นหา

แอร์บัสลดต้นทุนมะม่วง GI

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 484 ครั้ง

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ศึกษาการพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมมะม่วงน้ำดอกไม้ GI 2 สายพันธุ์ คือ มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 และน้ำดอกไม้สีทอง ของจังหวัดสระแก้วเพื่อลดต้นทุนการผลิต

โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้วและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้แก่เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่และวิสาหกิจชุมชนมะม่วงน้ำดอกไม้ จำนวน 30 ราย

ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมแอร์บัส (Air blast) มาประยุกต์ใช้ฉีดพ่นสารเคมี ยาป้องกันกำจัดโรคและแมลง ฮอร์โมนและสารเร่งที่มีความจำเป็นต่อพืชนอกจากจะประหยัดเวลา ทำงานได้รวดเร็ว สะดวก ง่ายต่อเกษตรกรในการใช้งาน ลดแรงงานในการฉีดพ่นสารเคมี ส่งผลให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนและมีรายได้เพิ่มขึ้น

โดยต้นทุนการผลิตของเกษตรกรที่ใช้แอร์บัส มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ไร่ละ 17,810 บาทต่อปี ผลตอบแทนเฉลี่ยไร่ละ 33,760 บาทต่อปี ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) ไร่ละ 15,950 บาทต่อปีในขณะที่เกษตรกรที่ใช้เครื่องฉีดยาแบบปั๊มถัง (แบบเดิม) มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ไร่ละ 21,378 บาทต่อปี ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยไร่ละ 33,505 บาทต่อปี มีผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) ไร่ละ 12,127 บาทต่อปี

จะเห็นได้ว่าเกษตรกรที่ใช้แอร์บัส จะมีต้นทุนการผลิตน้อยกว่าเกษตรกรที่ใช้แบบปั๊มถังไร่ละ 3,568 บาทต่อปี และมีผลตอบแทนสุทธิเพิ่มขึ้นไร่ละ 3,823 บาทต่อปี

สำหรับการพัฒนาในระยะต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดจะมุ่งส่งเสริมการพัฒนามะม่วงน้ำดอกไม้ GI สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเน้นพัฒนาและจัดทำฐานข้อมูลการผลิต การตลาด Big data และส่งเสริมด้านการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้อัตลักษณ์ฉลาก GI การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย สนับสนุนห้องเย็นเพื่อใช้ในกลุ่มเกษตรกรในการรวบรวมผลผลิต และห้องบ่มมะม่วงที่ใช้เทคโนโลยีการบ่ม พัฒนาคุณภาพการผลิตตามมาตรฐานส่งออกและสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตและสร้างมูลค่า สนับสนุนเกษตรกรเข้าสู่แพลตฟอร์ม E-Commerce รวมถึงไลฟ์สด Live-Streaming มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร กรณีราคาตกต่ำผ่าน Fruit Board และการพัฒนาแบบ BCG Value Chain.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/east/2486611