“ปัญหาหนี้สิน” ของ “ภาคครัวเรือน-ภาคเกษตร” เป็นอีกเรื่องใหญ่ในตอนนี้ โดยภาครัฐต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือ “ผ่อนหนักให้เป็นเบา” บรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
ซึ่งการให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้ในภาคเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ ที่มีการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนสามารถ “ก้าวข้ามวิกฤติ” ได้ ผ่านมาตรการต่าง ๆ ครบวงจร ที่มีทั้งความช่วยเหลือการเงิน รวมถึงพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพ
ทั้งนี้ นอกจากมาตรการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่มีการเร่งเข้าไปช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนที่เดือดร้อนแล้ว ทาง ธ.ก.ส. ยังมีแนวคิด-มีการดำเนินการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพให้ประชาชนและชุมชนที่เป็นลูกค้าอีกด้วย ผ่านแนวทางที่ได้จัดทำขึ้นด้วยการบูรณาการการทำงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาว ที่เป็นการ บูรณาการการออกแบบและการจัดการเชิงพื้นที่ ภายใต้ชื่อ “โมเดลแก้หนี้-แก้จน” หรือ “D & MBA : Design & Manage by Area” ภายใต้แผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยโมเดลนี้ “คนในชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อน”
โดยสังเขป… D & MBA : Design & Manage by Area หรือ “โมเดลแก้หนี้-แก้จน” โมเดลนี้ ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ให้ข้อมูลผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า… ที่ผ่านมาลูกค้า ธ.ก.ส. เผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้รายได้ลดลง โดยบางคนต้องหันไปหา “หนี้นอกระบบ” จนเป็นภาระหนัก ซึ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และป้องกันผลกระทบในระยะยาว จึงมีการกำหนดแนวทางการเข้าไปดูแลลูกค้า โดยให้สาขา ธ.ก.ส.ทุกสาขา บูรณาการการออกแบบ-การจัดการเชิงพื้นที่ “แก้หนี้-แก้จน” ขึ้นมา เน้นเชื่อมโยงตามแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิด “กระบวนการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ”
การขับเคลื่อนภายใต้โมเดลนี้ มีการอธิบายเพิ่มเติมว่า…จะประกอบด้วยหัวข้อต่าง ๆ อาทิ Problem Based ที่จะเป็นการ ศึกษาปัญหาและความต้องการ ก่อนจัดเรียงลำดับความสำคัญของปัญหาเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไข โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง, Possibility จะเน้น ใช้แนวทางการแก้ไขที่สมเหตุสมผล ที่มีความเป็นไปได้, Potential มุ่งเน้น ตามศักยภาพ ของชุมชน, Participation ที่เป็นการ เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน รวมถึงทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน, Purpose คือ คนในชุมชนต้องได้รับประโยชน์ ซึ่งก็เป็นจุดสำคัญในการดำเนินการภายใต้โมเดลนี้
นี่คือ “แก้ปัญหาต้นน้ำถึงปลายน้ำ”
โมเดลที่ “เป็นประโยชน์ต่อทุก ๆ ฝ่าย”
ทั้งนี้ กับสัมฤทธิผลโมเดลแก้หนี้-แก้จนหรือ “D & MBA : Design & Manage by Area” โดย ธ.ก.ส. นั้น ล่าสุดก็ปรากฏภาพชัดแล้ว โดยมีกรณีตัวอย่างลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. เช่น… ธวัช นาภรณ์ เกษตรกรสวนปาล์ม ต.คลองชอุ่น อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี ที่สะท้อนว่า… วิกฤติโควิด-19 ทำให้ได้รับผลกระทบมาก รายได้หลักที่เคยมีอยู่หายไป จนกระทบการชำระหนี้ที่กู้ยืม ธ.ก.ส. มา 300,000 กว่าบาท ซึ่งแม้การชำระจะอยู่ในอัตราที่ต่ำเพียงปีละ 5,000 กว่าบาท แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้ไม่สามารถชำระได้ จนหลังจาก ธ.ก.ส. เข้ามาช่วย สถานการณ์จึงพลิกผันกลับมาในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ
“โชคดีที่มีการเข้ามาช่วยเหลือแบบครบวงจร พร้อมทั้งให้เงินทุนก้อนใหม่มาหมุนเวียน จึงทำให้กลับมาชำระหนี้ได้เหมือนเดิมแล้ว จนวันนี้ทั้งหนี้เก่าและหนี้ใหม่ก็ใกล้จะหมดแล้ว” …ทาง “กรณีตัวอย่าง” รายนี้ระบุ
กรณีตัวอย่างถัดมา… อัจฉราพร รำเพย เกษตรกรสวนยางและสวนปาล์ม ต.เขาพัง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี รายนี้ก็สะท้อนว่า… การระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้หลักที่เคยมีหดหายไป กระทบฐานะการเงินครัวเรือน กระทบกำลังในการชำระหนี้ แต่ภายหลังก็ได้รับการช่วยเหลือจาก ธ.ก.ส. ด้วยการลดภาระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ให้ใหม่ และให้เข้าโครงการพักชำระหนี้ รวมถึงมีเงินทุนก้อนใหม่ให้ใช้หมุนเวียนทำสวน และใช้ต่อยอดอาชีพโดยปลูกต้นชบาเมเปิลเป็นอาชีพเสริม
“ดีใจที่มีการเข้ามาช่วยเหลือ เพราะนอกจากจะหายกังวลกับหนี้เก่าที่ค้างอยู่ ยังได้เงินทุนก้อนใหม่มาต่อยอดอีกด้วย จนตอนนี้มีรายได้เสริมเข้ามาอีกทาง และทำให้กลับมาชำระหนี้ได้ทุกเดือนแล้ว” …เกษตรกรรายนี้ระบุ
ขณะที่ อรวรรณ พืชผล เกษตรกร ต.บ้านยาง อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี กรณีตัวอย่างรายนี้เล่าให้ฟังว่า… ได้เงินกู้จาก ธ.ก.ส. มาลงทุนทำสวนยางและสวนปาล์ม 300,000 กว่าบาท ก่อนจะมาประสบปัญหา ทั้งวิกฤติโควิด-19 และปัญหาสุขภาพ จนทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. ทราบเรื่อง ก็เข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหา โดยพักดอกเบี้ยกับยืดระยะหนี้ให้ยาวขึ้น แถมยังได้เงินทุนก้อนใหม่มาใช้ฟื้นฟูอาชีพด้วย จนตอนนี้ค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ
“ถ้าไม่ได้การช่วยเหลือ ก็ไม่รู้จะหาเงินจากไหนมาใช้หนี้ ซึ่งนอกจากช่วยลดภาระหนี้เก่า ยังมีทุนก้อนใหม่ต่อยอดอาชีพด้วย โดยนำมาลงทุนปลูกพืชหมุนเวียนและพืชกระท่อม ทำให้มีรายได้มาใช้จ่ายและชำระหนี้ได้ จนตอนนี้ ทั้งหนี้เก่าหนี้ใหม่ลดลงจนใกล้จะหมดแล้ว” …เป็นอีก “ผลลัพธ์” ที่เกิดจาก “โมเดลแก้หนี้-แก้จน” โมเดลนี้…
ทั้ง “มีกรณีตัวอย่าง-เป็นกรณีตัวอย่าง”
กับการ “ช่วยแก้หนี้ประชาชนได้ผลดี”
“พ้นวิกฤติได้-ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย”.