ค้นหา

ทรายแมวจากมันสำปะหลัง “ไฮด์แอนด์ซีค” ฝีมือนักวิจัย จุฬาฯ ปลอดภัย ไร้ฝุ่น สร้างรายได้ให้เกษตรกร

สำนักข่าวอินโฟเควสท์
เข้าชม 725 ครั้ง

นักวิจัยคณะวิทย์ฯ จุฬาฯ ผุดผลิตภัณฑ์ทรายแมวจากมันสำปะหลัง สินค้าไทย 100 % เล็งส่งออกแข่งขันในตลาดโลก อวดประสิทธิภาพดูดซับของเหลวและกลิ่นปัสสาวะแมวได้ดี ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ปลอดภัยกับแมวและผู้เลี้ยง เตรียมต่อยอดทรายแมวบ่งชี้โรค

จากพืชผลทางการเกษตรที่ราคาตกต่ำ เช่น มันสำปะหลัง นักวิจัยไทยสามารถพลิกให้กลายเป็นสินค้ามูลค่าสูงขึ้นด้วยการแปรรูปเป็น “ทรายแมว” ของต้องมี-ต้องใช้สำหรับเจ้าแมวเหมียวทั้งหลาย

“ด้วยความที่เป็นคนชอบเลี้ยงแมวและใช้ผลิตภัณฑ์ทรายแมวมากว่า 10 ปี สังเกตเห็นว่าทรายแมวในท้องตลาดเกือบ 100 % นำเข้าจากต่างประเทศ จึงสงสัยว่าเพราะเหตุใดบ้านเราถึงไม่มีการผลิตทรายแมวใช้เอง เราจึงเริ่มมองหาวัตถุดิบที่เป็นผลิตผลทางการเกษตรของไทยว่ามีอะไรบ้างที่น่าจะนำมาทำเป็นทรายแมวได้ เช่น แกลบ ชานอ้อย จนมาลงตัวที่มันสำปะหลัง ” ดร.ลัญจกร อมรกิจบำรุง นักวิจัยหลังปริญญาเอก C2F ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาทรายแมวจากมันสำปะหลัง ภายใต้ชี่อการค้า “ไฮด์แอนด์ซีค”

“มันสำปะหลังมีคุณสมบัติด้านความเหนียวเมื่อโดนน้ำ ซึ่งตรงกับลักษณะการใช้งานของทรายแมว ที่ต้องมีคุณสมบัติในการดูดซับของเหลวและจับตัวเป็นก้อนได้เร็ว นอกจากนี้ ทรายแมวจากมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบธรรมชาติที่สามารถกำจัดโดยทิ้งลงชักโครกได้เลย”

นวัตกรรมนี้ตอบโจทย์ในการสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง แถมยังให้ความมั่นใจกับบรรดาทาสแมวทั้งหลายที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ประสิทธิภาพสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงไม่แปลกใจที่ นวัตกรรมทรายแมวผลิตจากมันสำปะหลัง โดยนักวิจัย จุฬาฯ จะได้รับรางวัลการันตีความสำเร็จมากมาย อาทิ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปีงบประมาณ 2565 รางวัลระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปี 2564 และรางวัล The Prime Minister’s Export Award ปี 2564 จากกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น

ทรายแมวจากมันสำปะหลัง ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพ

ปัจจุบัน ตลาดผลิตภัณฑ์ทรายแมวมีทางเลือกให้ผู้บริโภคหลากหลาย ไม่ว่า ทรายแมวที่ทำจากหินภูเขาไฟ ไม้สน เต้าหู้ และทรายแมวจากมันสำปะหลัง “ไฮด์แอนด์ซีค” นับเป็นตัวเลือกล่าสุด ที่ ดร.ลัญจกร มั่นใจว่าตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การเลี้ยงแมวในคอนโดหรือในพื้นที่จำกัด เนื่องด้วยประสิทธิภาพ ความปลอดภัยต่อสุขภาพ และคุณสมบัติการย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

“ทรายแมวของเราทำจากมันสำปะหลัง 100 % ไม่มีสารเคมีเจือปน จึงปลอดภัยต่อแมวและผู้เลี้ยง ไม่มีฝุ่นจากหินดินทรายที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเมื่อหายใจเข้าไป นอกจากนี้ ทรายแมวจากมันสำปะหลังยังจับตัวเป็นก้อนง่าย เมื่อแมวใช้งานแล้ว ก็สะดวกในการเก็บและนำไปทิ้งชักโครกได้เลย เพราะมันสำปะหลังสามารถละลายแตกตัวในน้ำได้เร็วและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ที่สำคัญ ทรายแมวจากมันสำปะหลังดูดกลิ่นได้ดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุอื่นๆ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด”

ทรายแมว สร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย

ความท้าทายในการผลิตทรายแมวจากมันสำปะหลังคือการหาเทคโนโลยีที่จะแปรรูปมันสำปะหลังให้เป็นทรายแมว แต่ด้วยความเป็นนักวิจัยด้านเคมี ดร.ลัญจกร ก้าวข้ามความท้าทายดังกล่าวได้สำเร็จ โดยกระบวนการผลิตเริ่มจากการนำมันสำปะหลังทั้งหัวมาย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ ทำให้แห้งก่อนบดเป็นผง จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการแปรรูปด้วยการใช้ความร้อนและความดันที่เหมาะสม จนได้ทรายแมวอัดรูปเม็ดเล็กละเอียด

“ข้อดีของการใช้มันสำปะหลังคือเป็นวัตถุดิบที่มาจากพืช ทำให้สามารถปลูกทดแทนขึ้นมาได้ ซึ่งต่างจากทรายแมวที่ใช้แร่หินเบนโทไนท์ ซึ่งได้จากการระเบิดภูเขา เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ”

การปลูกมันสำปะหลังทดแทนเป็นการช่วยเกษตรกรให้มีรายได้หมุนเวียนสม่ำเสมอตลอดทั้งปี ทั้งนี้ ดร.ลัญจกร เผยถึงโครงการในอนาคตว่าวางแผนจะตั้งโรงงานผลิตทรายแมวจากมันสำปะหลังในแหล่งเพาะปลูกที่ จ.ชลบุรี

“เราได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับเกษตรกรแล้วว่าอยากส่งเสริมให้พวกเขาปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งเราพร้อมจะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 10 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าที่เกษตรกรเคยขายกันในราคาที่กิโลกรัมละ 4 – 5 บาท แต่เกษตรกรต้องให้ความร่วมมือในการปลูกมันสำปะหลังที่ได้คุณภาพอย่างที่เราต้องการ เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตทรายแมวที่มีคุณภาพ”

ทรายแมวของไทยแข่งขันในตลาดโลก

ตลาดของผลิตภัณฑ์ทรายแมวเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง โดยในประเทศไทย มูลค่าของตลาดสูงกว่า 800 ล้านบาทต่อปี ส่วนตลาดทั่วโลกอยู่ที่ราว 280,000 ล้านบาทต่อปี

“ตลาดทรายแมวมีการแข่งขันสูงมาก การหากลยุทธ์ที่จะทำให้ทรายแมวของเราเป็นที่รู้จักและให้คนหันมาใช้จึงเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง” ดร.ลัญจกร กล่าว

ผลิตภัณฑ์ทรายแมวจากมันสำปะหลัง “ไฮด์แอนด์ซีค” ออกจำหน่ายในท้องตลาดได้ประมาณ 2 ปีแล้ว มียอดขายภายในประเทศในปีแรกราว 5 ล้านบาท และในปีที่ 2 มูลค่าการขายเพิ่มขึ้นเท่าตัวคือ 10 ล้านบาท นอกจากการจำหน่ายในประเทศแล้ว ดร.ลัญจกร เผยว่ายังได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ทรายแมวของไทยไปต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย เวียดนาม มาเลเซีย และกำลังเจรจาเพื่อส่งไปขายยังประเทศอิตาลีและญี่ปุ่น เร็วๆ นี้อีกด้วย

เล็งแปรรูปพืชผลการเกษตรอื่นๆ เป็นทรายแมว

จากมันสำปะหลังสู่ทรายแมวคุณภาพ เริ่มมีผู้ประกอบการหลายรายสะท้อนความต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชผลการเกษตรของตนเอง ซึ่งดร.ลัญจกร กล่าวว่า ชานอ้อย แกลบ ก็สามารถแปลงเป็นทรายแมวได้ แต่ไม่ง่ายเหมือนมันสำปะหลัง เนื่องจากขาดคุณสมบัติของความเหนียว แต่ก็อาจทำได้โดยการปรับปรุงสูตรด้วยการเติมแป้งมันหรือสารให้ความเหนียว

“ที่ผ่านมามีผู้สนใจมาปรึกษาอยากทำทรายแมวอยู่เยอะพอสมควร เช่น ผู้ประกอบการโรงสีข้าวซึ่งมีแกลบเหลือทิ้ง หรือแม้แต่ผู้ประกอบการที่มีเส้นใยกัญชง ซึ่งมีแกนที่ใช้ทำอะไรไม่ได้ แล้วอยากนำมาทำให้เกิดประโยชน์ ซึ่งก็มีโอกาสทำได้ แต่ต้องใช้เวลาศึกษาพัฒนาปรับปรุงสูตรต่อไปในอนาคต”

ทรายแมวในอนาคต บอกโรคน้องเหมียวได้

ปัจจุบัน ดร.ลัญจกร กำลังต่อยอดผลิตภัณฑ์ทรายแมวที่สามารถบ่งชี้สุขภาพน้องแมวได้ในเบื้องต้น

“เรากำลังวางแผนต่อยอดผลิตภัณฑ์ทรายแมวที่สามารถช่วยเฝ้าระวังโรคของแมวได้ เพื่อให้เจ้าของสามารถเห็นความผิดปกติของสุขภาพแมวตั้งแต่ระยะแรกๆ ก่อนจะป่วยหนัก จะได้พาน้องแมวไปรับการรักษาได้ทันท่วงที”

ผลิตภัณฑ์ทรายแมวที่กำลังวิจัยนี้สามารถตรวจวัดค่า pH และปริมาณกลูโคสในปัสสาวะแมว และแสดงผลด้วยการเปลี่ยนสี บ่งบอกถึงความเสี่ยงที่จะเกิดโรค เช่น โรคไต การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ และโรคเบาหวาน

การต่อยอดงานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โครงการต้นแบบนักประดิษฐ์ไทย นักประดิษฐ์โลก ประจำปี 2565 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.คเนศ วงษ์ระวี ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหัวหน้าโครงการ คาดว่าในปลายปีนี้ งานวิจัยจะแล้วเสร็จ พร้อมมีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายให้ได้ทดดลองใช้กัน

ผลิตภัณฑ์ทรายแมวจากมันสำปะหลัง “ไฮด์แอนด์ซีด” ถุงขนาด 2.7 กิโลกรัม ราคาถุงละ 220 – 250 บาท ใช้ได้ราว 3 อาทิตย์ต่อแมว 1 ตัว มีจำหน่ายที่ร้าน Pet Sop ในห้างสรรพสินค้านอกจากนี้ ยังมีจำหน่ายที่รพ.สัตว์ทองหล่อ ภายใต้ชื่อแบรนด์ Dr.Choice ภายใต้การผลิตแบบ OEM (Original Equipment Manufacturing)

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.ryt9.com/s/prg/3354670