ค้นหา

แปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ จากวิสาหกิจสู่บริษัททำเงินปีละ 60 ล้านบาท

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 649 ครั้ง

จะมีเกษตรกรสักกี่กลุ่มที่รวมตัวกันได้อย่างมั่นคง แข็งแรง มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบระเบียบเริ่มตั้งไข่ตั้งแต่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ จนรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน แล้วพัฒนาสู่แปลงใหญ่ เติบโตจนตั้งเป็นบริษัทแปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ ต.สุขไพบูลย์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา สร้างรายได้ปีละไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท

“เดิมทีคนแถบนี้ทำไร่มันกับไร่อ้อยเป็นหลัก มีปลูกกล้วยกันเป็นหย่อมๆ ไว้กินเอง แต่ผมมองว่าอ้อยกับมันสร้างรายได้รายปี พอได้เงินสุดท้ายก็ไม่เหลือ จึงปรึกษากันในกลุ่มพร้อมกับไปดูงานมาหลายที่ สุดท้ายได้ไปดูการผลิตและรับซื้อกล้วยของ บริษัท คิง ฟรุทส์ ปี 2559 จึงตัดสินใจรวมกลุ่มเพื่อนทั้งหมด 7 คน ปลูกกล้วยหอมทองบนพื้นที่รวม 30 ไร่ ต่อมาเมื่อมีโครงการแปลงใหญ่ ได้มีสมาชิกเพิ่ม จนปัจจุบันขยายสมาชิกสู่ 260 คน พื้นที่รวม 2,500 ไร่ พร้อมกับตั้งเป็นบริษัท”

สมศักดิ์ แสงรัมย์ ประธานกลุ่ม แปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ เล่าถึงที่มาของการรวมกลุ่ม ที่มีจุดเริ่มต้นจากอยาก ให้คุ้มค่าต่อการขนส่งผลผลิตกล้วยไปยังบริษัท คิง ฟรุทส์ ย่านปทุมธานี ก่อนก่อตั้งเป็น บริษัท แปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ เริ่มปลูก ครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จนัก ด้วยยังขาดองค์ความรู้ที่ดีพอ บริษัท คิง ฟรุทส์ จึงให้คำแนะนำและกำลังใจว่า กำไรครั้งแรกอยู่ที่หน่อ ถุงห่อ และไม้ค้ำ เพราะใช้งาน ต่อได้ในรอบผลิตต่อไป พร้อมกับแนะนำให้ปลูกแบบประณีตและใช้เทคโนโลยี เช่น โดรน รถไถ เข้ามาช่วยลดต้นทุน จากนั้นจึงลงมือเรียนรู้เพิ่มเติม จนเข้าใจในกล้วยมากขึ้น

ประธานกลุ่มฯ บอกต่อไปว่า เมื่อเข้าใจกล้วยพร้อมกับใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเข้าช่วย จนปัญหาการปลูกหมดไป แล้วปัญหาต่อมาคือการบริหารจัดการ เพราะเริ่มมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น การวางแผนการผลิตต้องลงตัว เพื่อให้ผลผลิตเพียงพอต่อออเดอร์ของบริษัท เบื้องต้นวันละ 30 ตัน

จึงมีข้อกำหนดกลุ่มให้ปลูกแบบหมุนเวียน ไล่เป็นแปลงๆ แปลงไหนออกผลผลิตก็เอาอุปกรณ์ไปปลูกแปลงอื่น เมื่อมีหน่อก็เอาไปลงแปลงว่างหรือขาย ใครพร้อมลงปลูกก็ให้แจ้งทางกลุ่ม เพื่อผลิตให้ได้เดือนละ 300 ไร่…ทั้งนี้ บริษัทจะรับซื้อผลผลิตทั้งหมดจากเกษตรกรในราคาประกัน โดยกล้วยเกรดเอ หวีละ 42 บาท เกรดบี หวีละ 30 บาท และกล้วยตกเกรด กก.ละ 10 บาท

“การปลูกกล้วยทำให้เกษตรกรขยันไปในตัว เพราะต้องใส่ใจมากกว่าการปลูกอ้อยและมัน จากนั้นจึงนำมาสู่การรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน ต่อมาเมื่อมีโครงการแปลงใหญ่จากภาครัฐเข้ามาจึงเข้าร่วม จนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อต้องการสร้างความมั่นคงในอาชีพ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้เกษตรกร ขณะเดียวกันก็ทำงานอย่างมีรูปแบบ มีมาตรฐาน ลดการพึ่งพาภาครัฐ พร้อมไปกับสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรผันตัว มาเป็นผู้ประกอบการ จึงพัฒนาเป็นบริษัท เพื่อทั้งผลิตและรับซื้อผลผลิตจากเพื่อนเกษตรกร”.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/central/2492926