สศก. เปิดผลศึกษา การวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจ ด้วยวัสดุเหลือใช้จากมะพร้าวอ่อน มาใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง-พลังงานทางเลือก ตามแนวทาง BCG Model
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) หรือการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว สศก. ได้ทำการวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจของการนำวัสดุเหลือใช้จากมะพร้าวอ่อนมาใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องและพลังงานทางเลือก เพื่อศึกษาแนวทางในการส่งเสริมการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้จากมะพร้าวอ่อนตามแนวทางของ BCG Model รวมทั้งเก็บข้อมูลจากเกษตรกร โรงคัดบรรจุ ผู้รวบรวมเปลือกมะพร้าวอ่อน โรงไฟฟ้าชีวมวล กลุ่มทำปุ๋ย และกลุ่มทำถ่าน ซึ่งพบว่า เกษตรกรมีการนำสิ่งเหลือใช้จากมะพร้าวอ่อนมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ โดยนำสิ่งเหลือใช้ในสวนมะพร้าว เช่น ทางมะพร้าว ไปคลุมโคนต้นมะพร้าวอ่อนเพื่อเป็นปุ๋ย หรือนำไปหมักในท้องร่องเพื่อนำไปทำปุ๋ยใส่ต้นมะพร้าวในสวน สามารถช่วยลดค่าปุ๋ยได้ ขณะที่บริษัท/โรงคัดบรรจุมะพร้าว จะมีสิ่งเหลือใช้ เช่น เปลือก จั่น และทะลายมะพร้าว เป็นต้น ที่เหลือทิ้งและเอาไปถมที่ บางส่วนมีผู้รวบรวมเปลือกมะพร้าวเพื่อนำไปแปรรูปเป็นใยมะพร้าวก่อนนำไปเป็น ชีวมวลของโรงไฟฟ้า หรือนำไปผลิตเพื่อได้ขุยมะพร้าวสำหรับผสมดินขาย และบางกลุ่มนำไปเผาเพื่อทำถ่านอัดแท่งขาย และได้น้ำส้มควันไม้ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการเผาถ่าน
นอกจากนี้ ในการศึกษาวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจของการนำวัสดุเหลือใช้จากมะพร้าวอ่อนมาใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องและพลังงานทางเลือกนั้น สศก. โดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ได้มีการการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็น (Focus Group) รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเพิ่มมูลค่าสิ่งเหลือใช้จากมะพร้าวอ่อน เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยได้มีการอภิปรายผลงานวิจัย และมุมมองจากคณะวิทยากรภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ บริษัท อะโรแมติกฟาร์ม จำกัด บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด ผู้แทนจากโครงการ ReCAP ,GIZ Thailand มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งนับว่าเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองในการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อเพิ่มมูลค่าของสิ่งเหลือใช้จากมะพร้าวอ่อนให้เป็นรูปธรรมและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ BCG ในการเพิ่มมูลค่าจากสิ่งเหลือใช้จากมะพร้าวอ่อนร่วมกัน
นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเสริมว่า สำหรับผลการศึกษาของสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ปุ๋ยจากเปลือกมะพร้าว เกษตรกร หรือ โรงคัดบรรจุที่นำเปลือกมะพร้าว/ทางมะพร้าวมาเข้าเครื่องโม่ และนำไปหมักโดยผสมมูลไก่/มูลสุกร/มูลโค หรือผสมจุลินทรีย์ พ.ด.และ กากน้ำตาล จนได้ปุ๋ยคอกจากเปลือกมะพร้าวเพื่อนำไปใส่ในสวนหรือขายต่อ จะมีต้นทุนการทำปุ๋ยทั่วไป/ ปุ๋ยอินทรีย์ตันละ 800/2,842 บาท ราคาขายตันละ 2,000/3,500 บาท ทำให้ได้รับผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) ตันละ 1,200/658 บาท
ขุย/ใยมะพร้าว ผู้รวบรวมเปลือกมะพร้าวจะนำเปลือกมะพร้าวจากจุดที่โรงคัดบรรจุนำมาทิ้งมายังโรงงาน เพื่อมาพักและตากเปลือกมะพร้าว ลดความชื้นก่อนเข้าเครื่องจักรโม่เปลือกออกมาเป็นขุยเพื่อส่งขายไปผสมดินและวัสดุปลูกและใยมะพร้าวส่งขายโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยมีต้นทุนการแปรรูปขุยมะพร้าวตันละ 700 และใยมะพร้าว ตันละ 350 บาท ราคาขายขุยมะพร้าวไปผสมดินตันละ 1,000 บาท ราคาขายใยมะพร้าวไปโรงไฟฟ้าชีวมวลตันละ 500 บาท คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิขายใยมะพร้าวส่งโรงไฟฟ้าตันละ 150 และขายขุยมะพร้าวไปผสมดิน 300 บาท
การเผาถ่าน/น้ำส้มควันไม้ กลุ่มเกษตรกรจะนำจั่นมะพร้าวสดไปผึ่งลมประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วนำไปเผาประมาณ 4-5 ชั่วโมง ได้เป็นถ่านสวยงาม และถ่านที่นำไปอัดแท่งขาย โดยจะมีผลพลอยได้จากการเผาถ่าน คือ น้ำส้มควันไม้ที่ได้จากการสกัด พบว่าต้นทุนการผลิตกิโลกรัมละ 31.66 บาท ราคาขายถ่านสวยงาม กิโลกรัมละ 100 บาท ถ่านอัดแท่ง กิโลกรัมละ 30 บาท และน้ำส้มควันไม้ขวดละ 500 ซีซี 60 บาท คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ กิโลกรัมละ 20 บาท
การเลี้ยงสุกรหลุม เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรหลุมรับซื้อเปลือกมะพร้าวอ่อนจากบริษัท/โรงคัดบรรจุเพื่อนำมาผสมกับแกลบในการรองพื้นในการเลี้ยงสุกรหลุม ระยะเวลาเลี้ยงสุกร 5 เดือน ทำให้ประหยัดค่าวัสดุรองหลุมในการเลี้ยงสุกรหลุม 170.63 บาทต่อตัว และมีผลพลอยได้จากการขายมูลสุกรหลุม กิโลกรัมละ 2 บาท หรือ 1,250 บาทต่อตัว
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาด้านการนำเปลือกมะพร้าวมาผลิตไฟฟ้าเป็นพลังงานชีวมวล พบว่า เป็นการกำจัดเปลือกมะพร้าวจำนวนมากในพื้นที่ได้ แต่ยังไม่สามารถจัดการกับความชื้นในการผลิตเป็นชีวมวลที่มีคุณภาพได้ ดังนั้น ทางเลือกที่เหมาะสมในระยะสั้น คือ การทำปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกมะพร้าว ซึ่งสามารถนำเปลือกมะพร้าว ที่มีจำนวนมากในพื้นที่จัดการได้โดยทันที แม้จะมีต้นทุนและค่าใช้จ่าย แต่สามารถนำไปใส่ในสวนมะพร้าวและได้ผลลัพธ์เป็นอย่างดี และในระยะยาวขอให้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อเพิ่มมูลค่าของสิ่งเหลือใช้ จาก มะพร้าวอ่อน เช่น งานวิจัยการลดความชื้นในเปลือกมะพร้าวเพื่อพัฒนาให้เป็นชีวมวลต้นทุนต่ำในการผลิตไฟฟ้า เป็นพลังงานชีวมวล งานวิจัยการเพิ่มมูลค่าจากสารแทนนินในเปลือกมะพร้าว เครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตวัตถุดิบจากเศษวัสดุมะพร้าวอ่อนโดยเฉพาะ เป็นต้น ทั้งนี้ ท่านที่สนใจข้อมูลการสัมมนาและผลการศึกษาข้างต้น สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนวิจัยเศรษฐกิจพืชสวน สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร (สวศ.) โทร. 0 2579 0612 ในวันและเวลาราชการ