ค้นหา

วว. นำ วทน. ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดชุมพร อบรมการผลิตน้ำหมักเปลือกมังคุด/จัดการโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน

สำนักข่าวอินโฟเควสท์
เข้าชม 643 ครั้ง
วว. นำ วทน. ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดชุมพร อบรมการผลิตน้ำหมักเปลือกมังคุด/จัดการโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน

กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) ภายใต้การดำเนิน “โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดชุมพรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างมูลค่าจากมังคุดตกเกรดและเปลือกมังคุดที่เหลือทิ้งจากการแปรรูป จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การผลิตน้ำหมักเปลือกมังคุดและการจัดการโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน” โดยมีเกษตรกรจากอำเภอละแม อำเภอพะโต๊ะ และอำเภอหลังสวน  เข้าร่วมการอบรมจำนวน 118 ราย เมื่อวันที่  13 กันยายน 2565 ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดคุณภาพบ้านฉาน ตำบลท่ามะพลา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร โดยมีเกษตรกรจากอำเภอละแม อำเภอพะโต๊ะ และอำเภอหลังสวน  เข้าร่วมการอบรมจำนวน 118 ราย

การผลิตน้ำหมักเปลือกมังคุดและการจัดการโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน  มีส่วนประกอบสำหรับเตรียมน้ำหมัก  ได้แก่ เปลือกมังคุดสด 30 กิโลกรัม  หัวเชื้อจุลินทรีย์ (EM) 400 มิลลิลิตร  น้ำตาลทราย 3 กิโลกรัม  และน้ำสะอาด 60 ลิตร  โดยจะใช้เวลาหมักนาน 3 เดือน สามารถนำไปใช้ได้

สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพของน้ำหมักจากเปลือกมังคุดเพื่อใช้ควบคุมโรครากเน่าและโคนเน่าในแปลงทุเรียน  มีวิธีการดังนี้  1) ขูดแผลต้นทุเรียนที่เป็นโรค 2) ทาน้ำหมักจากเปลือกมังคุดที่ผสมสารเสริมประสิทธิภาพให้ทั่วแผลที่ถูกถากเปลือก 3) ทาน้ำหมักจากเปลือกมังคุด ซ้ำ 4-5 ครั้ง ๆ ห่างกันครั้งละ  3-4 วัน หรือจนกว่าแผลจะแห้งสนิท 4) ขูดแผลเพียงเล็กน้อยเพื่อตรวจสอบโรค หากพบเนื้อไม้ฉ่ำน้ำหรือเนื้อไม้เป็นสีชมพู ให้ทาน้ำหมักเปลือกมังคุดจนกว่าอาการเหล่านั้นจะหายไป 

ทั้งนี้ การอบรมดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมการอบรมสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการผลิตน้ำหมักเปลือกมังคุดในฤดูกาลผลิตถัดไป เพื่อการจำหน่ายหรือนำมาใช้ในชุมชน และสามารถนำน้ำหมักที่ผลิตได้ไปใช้ป้องกันกำจัดโรคพืชต่างๆ โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการปลูกทุเรียนในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นการเพิ่มรายได้และใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชของสมาชิกในชุมชนและช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ได้ที่ โทร. 0 2577 9004, 0 2577 9007 ,0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 E-mail : [email protected]

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.ryt9.com/s/prg/3356692