ค้นหา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 5 – 11 ตุลาคม พ.ศ. 2565

สำนักข่าวอินโฟเควสท์
เข้าชม 359 ครั้ง

ระหว่างวันที่ 5 – 11 ตุลาคม พ.ศ. 2565

ออกประกาศวันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2565

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 119/2565

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 5-8 ต.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในช่วงวันที่ 9-11 ต.ค. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักบางแห่งในระยะแรกกับมีลมแรง และหลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

คำเตือน ในช่วงนี้บริเวณประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 5-8 และ 11 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 9-10 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนล่างของภาค โดยในพื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก สำหรับทางตอนบนของภาคในพื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วมขัง หากระดับน้ำลดลงแล้วควรฟื้นฟูแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 5-7 และ 11 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 8-10 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรง ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนล่างของภาค เกษตรกรควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนสาดให้แก่สัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงหนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานานเพราะอาจเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยได้ โดยเฉพาะสัตว์เท้ากีบ เช่น โค กระบือ และสุกร เป็นต้น สำหรับทางตอนบนของภาคในพื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วมขัง หากระดับน้ำลดลงแล้วควรฟื้นฟูแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม นอกจากนี้ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 20-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง สำหรับผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ นอกจากนี้ควรระวังโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคตาแดง โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร โรคฉี่หนู และโรคไข้เลือดออก เป็นต้น

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง รวมทั้งควรผูกยึดค้ำยันกิ่งไม้ผลให้แข็งแรง สำหรับในพื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนสาดให้แก่สัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงหนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานานเพราะอาจเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยได้ โดยเฉพาะสัตว์เท้ากีบ เช่น โค กระบือ และสุกร เป็นต้น สำหรับในพื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก

ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 28 กันยายน – 4 ตุลาคม 2565 มีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สงขลา นราธิวาส ระนอง พังงา และสตูล ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น นครราชสีมา อุทัยธานี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ปทุมธานี ราชบุรี สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี ยะลา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.ryt9.com/s/tmd/3362743