ค้นหา

พัฒนาระบบคุมความข้นน้ำยาอัดไม้ยาง ลดต้นทุนสารเคมีปีละกว่า 1.4 ล้านบาท

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 418 ครั้ง

“กระบวนการแปรรูปไม้ยางพารา จำเป็นต้องอัดน้ำยาโบรอนเพื่อรักษาเนื้อไม้ก่อนที่จะนำไปอบ เพื่อป้องกันเชื้อราและแมลง แต่ไม้ยางมีน้ำที่ไม่ทราบปริมาณที่แน่นอนเป็นองค์ประกอบ ทำให้น้ำยาเจือจางลงทุกรอบการอัด พนักงานผู้อบจึงต้องเพิ่มสารโบรอนชดเชยในการอัดรอบต่อไป โดยใช้แค่ประสบการณ์และการคาดเดา ซึ่งไม่สามารถควบคุมในขั้นตอนนี้ได้เลย ขณะที่การตรวจสอบปริมาณน้ำยาตามมาตรฐานหลังอบแห้งเสร็จ ที่ทำกันทั่วไปก็ล่าช้า น้ำยามากไปเปลืองสารเคมี น้อยไปต้องเสียเวลาอัดน้ำยาไม้ใหม่ ไม่เช่นนั้นราและแมลงจะทำลายได้ ส่งผลให้ไม้ยางพาราแปรรูปไม่ผ่านมาตรฐาน ที่สำคัญสิ้นเปลืองสารเคมี”

รศ.ดร.นิรันดร มาแทน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อธิบายถึงขั้นตอนการแปรรูปไม้ยางพารา ที่มีอุปสรรคในเรื่องการอัดสารโบรอน ทำให้ไม้แปรรูปไม่ผ่าน มาตรฐาน…เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพารา ให้สามารถลดต้นทุนและแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงให้ทุนสนับสนุนงานวิจัย จนทีมวิจัยสามารถพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ชนิดใหม่ “ImPregWooD” หรือระบบควบคุมความเข้มข้นน้ำยาอัดไม้แปรรูปอุตสาหกรรมเป็นผลสำเร็จ

ImPregWooD เป็นการพัฒนาระบบออกแบบรูปแบบการเลื่อย ระบบควบคุมการอัดน้ำยา ระบบควบคุมการอบและเตาอบไม้ต้นแบบ สำหรับการผลิตไม้ยางพาราแปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเครื่องมือที่ทำให้สามารถควบคุมความเข้มข้นของน้ำยาโบรอนได้อย่างแม่นยำทุกรอบการอัดน้ำยา พร้อมมีโปรแกรมคำนวณ เพื่อแนะนำการผสมน้ำยารอบใหม่ เพื่อให้ได้ความเข้มข้นน้ำยาตามต้องการ

ระบบที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วยหลอดแก้ววัดความเข้มข้นน้ำยาโบรอนที่หน้างาน กราฟมาตรฐานสำหรับเครื่องวัดความถ่วงจำเพาะกับปริมาณโบรอนในสารละลาย และโปรแกรมคำนวณการผสมน้ำยารอบใหม่ เพื่อให้ได้ความเข้มข้นน้ำยาตามต้องการ โดยมีจุดเด่นของระบบ คือสามารถวัดความเข้มข้นของน้ำยาโบรอนที่ความเข้มข้นต่ำประมาณ 1% ในช่วงการใช้งานได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ และการวัดค่าความถ่วงจำเพาะของน้ำยาด้วยหลอดไฮโดรมิเตอร์ความละเอียดสูงที่ออกแบบและผลิตเอง สามารถอ่านค่าความถ่วงจำเพาะได้ละเอียดถึงทศนิยมตำแหน่งที่ 3 ที่สำคัญเมื่อนำมาเทียบความแม่นยำกับการวัดค่าด้วยเทคนิคการไทเทรตในห้องปฏิบัติการ ได้ค่าความแม่นยำแทบไม่ต่างกัน

นอกจากนี้ยังมีระบบคำนวณสูตรการผสมน้ำยาในรอบถัดไป โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ปริมาณและค่าความเข้มข้นของน้ำยาอัดไม้ตามที่ต้องการ และสามารถออกแบบระบบให้ใช้ได้กับน้ำยาโบรอนทุกยี่ห้อที่มีขายในท้องตลาด และใช้ได้กับระบบถังอัดน้ำยาทุกรูปแบบที่มีใช้ในอุตสาหกรรม ที่สำคัญเนื่องจากเป็นระบบที่พัฒนาโดยทีมวิจัยทำให้สามารถแก้ไขปรับปรุงระบบทั้งหมดได้เอง และสามารถพัฒนาส่วนต่างๆเพิ่มเติมได้ในภายหลัง

ทั้งนี้จากการติดตามผลการใช้จากโรงงานที่นำ ImPregWooD ไปใช้ โดยเฉพาะ บริษัทไทยนครพาราวู้ด จำกัด ที่เข้าร่วมโครงการเป็นบริษัทแรก ตั้งแต่ปี 2554 พบว่าสามารถช่วยให้ลดการใช้สารเคมีลงได้วันละ 100 กก. คิดเป็นเงินปีละกว่า 1.4 ล้านบาท ในขณะที่ยังคงรักษาคุณภาพความคงทนของไม้ยางพาราแปรรูปได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยทีมวิจัยได้ขยายผลติดตั้งระบบ ImPreg WooD เพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูปแล้ว 14 โรงงาน.

พัฒนาระบบคุมความข้นน้ำยาอัดไม้ยาง ลดต้นทุนสารเคมีปีละกว่า 1.4 ล้านบาท
พัฒนาระบบคุมความข้นน้ำยาอัดไม้ยาง ลดต้นทุนสารเคมีปีละกว่า 1.4 ล้านบาท

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/2519995