ค้นหา

ปลูกกล้วยหอมส่งญี่ปุ่น-เกษตรกรอุบลทำได้ ธ.ก.ส.พร้อมหนุน “ธุรกิจชุมชนสร้างไทย”

วิสาหกิจชุมชนฟรุทส์ฟาร์มอุบ
เข้าชม 1,488 ครั้ง

การปลูกกล้วยหอมทองไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเกษตรกรไทย แต่ปลูกให้ได้คุณภาพมาตรฐานส่งออกญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่เกษตรกรไทยยังทำไม่ได้ครบถ้วน เพราะว่าประเทศญี่ปุ่นให้โคว้ต้าส่งออกแก่ประเทศไทยประมาณ 8,000 ตัน ต่อปี แต่เรายังทำได้เพียง 3,000-4,000 ตัน ต่อปี จากที่ญี่ปุ่นสั่งนำเข้ากล้วยหอมทองปีละประมาณ 1 ล้านตัน โดยประเทศฟิลิปปินส์เป็นเบอร์ 1 มีปริมาณการนำเข้า 8.36 แสนตัน (83.6%) รองลงมาเป็นประเทศแถบอเมริกาใต้ และไทยเราอยู่อันดับท้ายๆ เฉลี่ยส่งออกได้ไม่ถึง 1% ทั้งที่ส่งออกมากว่า 20 ปี จึงเป็นความท้าทายของเกษตรกรไทย (อ่านเพิ่มเติม–ทำไมตลาดหลักอย่างญี่ปุ่นถึงต้องการกล้วยหอมทองไทย https://bit.ly/3EAlXRo)

คุณณรงค์ศักดิ์ สนัย หรือ “คุณหนึ่ง” ประธานวิสาหกิจชุมชนฟรุทส์ฟาร์มอุบล เลขที่ 30 หมู่ที่ 9 ต.แก้ง อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี เป็นเกษตรกรคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการปลูกกล้วยหอมทองส่งประเทศญี่ปุ่น โดยคุณหนึ่งได้เล่าให้ฟังในระหว่างที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ได้นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางไปรายงานข่าวเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรรายอื่นๆในฐานะ “หัวขบวน” ที่มุ่งหวังจะให้ลากขบวนอื่นๆตามไปด้วย

“ตอนแรกผมก็เป็นทหารมาก่อน แต่ต่อมาก็ได้ลาออก เพราะอยากกลับมาบ้านเกิดและทำอาชีพเกษตรต่อจากพ่อแม่ แต่แรกๆที่กลับมาก็เคว้งยังไม่รู้ว่าจะเริ่มทำอะไรให้เป็นหลัก ก็พยายามหาข้อมูลว่าจะปลูกพืชอะไรดีที่เราทำได้และมีตลาดชัดเจนก็พบว่าน่าจะปลูกกล้วยหอมทองส่งเซเว่นฯ และห้างสรรพสินค้า เพราะได้ศึกษาร่วมกับพี่ชายก็พบว่ายังมีช่องว่างและเริ่มทำที่อุดรก่อนย้ายมาทำที่อุบลอย่างในวันนี้ครับ”

หลังผลการศึกษาว่ามีโอกาสเป็นไปได้ คุณหนึ่งได้รวบรวมเกษตรกรรายเล็กรายน้อยและจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนฟรุทส์ฟาร์มอุบล ในปี 2562 โดยมีเป้าหมายชัดเจนคือปลูกกล้วยหอมทองส่งออกญี่ปุ่น โดยระยะแรกนั้นได้ส่งขายที่เซเว่นอีเลฟเว่น และเทสโก้ โลตัส ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าเกษตรกรที่เป็นสมาชิกทำได้ดีทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะต้องไปต่อตลาดส่งออกญี่ปุ่นให้ได้

“ผมและสมาชิกต้องใช้ความพยายามกันอย่างหนัก เจออุปสรรคมากมาย แต่ผลจากที่เรารวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนมันช่วยได้มาก เพราะหน่วยงานราชการให้การสนับสนุนเหมือนเป็นพี่เลี้ยงให้กับเรา โดยเฉพาะเงินทุนที่เราได้รับการสนับสนุนจากธ.ก.ส.มันทำให้เราเชื่อมั่นและเดินหน้าอย่างมีเป้าหมายมากขึ้น เพราะว่าขั้นตอนการที่จะส่งผลผลิตกล้วยให้กับเซเว่นฯ และการส่งออกเราจะต้องมีความพร้อมในหลายๆด้าน อย่างเช่น แปลงเกษตรกรต้องได้รับการรับรอง GAP โรงคัดบรรจุต้องได้รับการรับรอง GMP ฯลฯ ทุกอย่างต้องใช้เงินทุนหมุนเวียน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรรายย่อยแต่ละรายไม่ได้มีเงินทุนมาก”

สำหรับในเรื่องของการปลูกกล้วยให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ คุณหนึ่งเปิดเผยว่า ปัจจัยความสำเร็จ คือ ในเรื่องของสายพันธุ์ที่ชื่อว่า “แขนทอง” มีเนื้อแน่น รสชาติหวานหอม เปลือกหนา เหมาะแก่การส่งออก โดยจะเก็บที่ความแก่ 80 % (ใช้เวลาเดินทางไปญี่ปุ่น 15 วัน) กรณีส่งเซเว่นฯจะเก็บที่ความแก่ 90%

ปัจจัยสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของผลผลิตปลอดภัย ซึ่งทางญี่ปุ่นจะเข้มงวดมากๆ มีการตรวจสอบควบคุมคุณภาพอย่างใกล้ชิด การปลูกจะไม่ใช้สารเคมีกำจัดโรคแมลง แต่สามารถใช้ปุ๋ยเคมีได้ ซึ่งสมาชิกจะควบคุมโรคแมลงด้วยสารชีวภัณฑ์และปลูกกล้วยแบบร่องคู่ ประมาณ 400 ต้น ต่อไร่ ทุกร่องมีการคลุมผ้ายางป้องกันวัชพืช และใช้ระบบน้ำหยด ให้ปุ๋ยคู่มากับการให้น้ำ ฯลฯ โดยมีผลผลิต 8-10 ตัน ต่อไร่ ใช้ระยะเวลาปลูก 8 เดือน ต่อรอบ

“สมาชิกจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือในจังหวัดอุบลราชธานีและศรีษะเกษบางอำเภอ ซึ่งปลูกกล้วยหอมส่งญี่ปุ่นโดยเฉพาะ มีพื้นที่ 600 ไร่ และอีก 700 ไร่ ครอบคลุม 5 จังหวัดในภาคอีสาน ซึ่งส่งขายตลาดในประเทศ โดยเกษตรกรสมาชิกจะมีรายได้ประมาณ 80,000-100,000 บาท ต่อไร่ ต่อรอบ”

ปัจจุบันผลผลิตกล้วยหอมสามารถส่งออกญี่ปุ่นได้สัปดาห์ละ 54 ตัน หรือเดือนละประมาณ 200 ตัน และอนาคตจะขยายออกไปอีก

“สำหรับตัวผมเองนั้นไม่เคยทำอาชีพเกษตรมาก่อนพอได้ออกมาทำจริงๆ ก็รู้สึกว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เจอกับปัญหาและอุปสรรคหลายๆอย่างกว่าจะสามารถเข้าใจและลงมือทำให้สำเร็จ แต่เมื่อเรามีความพยายามและแน่วแน่ในสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้ ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถทำได้อย่างแน่นอนครับ” คุณหนึ่งย้ำจากใจและพร้อมส่งต่อความสำเร็จให้กับทุกคน (โทร. 065-809-4996)

ทางด้าน คุณศรัทธา อินทรพรหม ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. พร้อมให้การสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฟรุทส์ฟาร์มอุบล เนื่องจากเป็นกลุ่มเกษตรรายย่อยที่รวมตัวกันสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นในชุมชน เป็นนโยบายของธ.ก.ส. และรัฐบาลที่อยากเห็นความเข้มแข็งของภาคเกษตร จึงให้การสนับสนุนเงินทุนผ่านสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยกว่า 3,000,000 บาท เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฟรุทส์ฟาร์มสามารถต่อยอดและยกระดับธุรกิจการส่งออกสินค้าจากชุมชนไทยไปสู่สากล

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.kasetkaoklai.com/home/2022/10/ปลูกกล้วยหอมส่งญี่ปุ่น/