สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลจากฟาร์มสุกรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ตามแนวทางของ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ด้วยการนำผลพลอยได้จากบ่อบำบัดน้ำเสีย ที่ได้ก๊าซชีวภาพไปผลิตเป็นไฟฟ้าแล้วกลับมาใช้ภายในฟาร์มและจำหน่ายสร้างรายได้เพิ่ม
การศึกษาฟาร์มสุกรในระดับชุมชน ต.ท่ามะนาว อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ซึ่ง อบต.ท่ามะนาว ได้จัดทำโครงการร่วมกับภาคีเครือข่ายจากหลายหน่วยงานให้การสนับสนุนงบประมาณ และองค์ความรู้ในการปรับปรุงบ่อบำบัดน้ำเสียแบบผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มสุกร ตลอดจนการวางระบบท่อก๊าซชีวภาพไปยังครัวเรือนในชุมชน
มีฟาร์มสุกรในชุมชนเข้าร่วม 11 ฟาร์ม เพื่อส่งก๊าซชีวภาพให้กับชุมชนใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม LPG จำนวน 486 ครัวเรือน โดยมีวิสาหกิจชุมชนผู้ใช้ก๊าซจากมูลสัตว์เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการและจัดเก็บค่าบริการจากการใช้ก๊าซชีวภาพของชุมชน ตลอดจนการบำรุงรักษาระบบท่อก๊าซ
โดยเก็บค่าบริการการใช้ก๊าซชีวภาพ ครัวเรือนละ 50-55 บาทต่อเดือน เฉลี่ยครัวเรือนละ 692 บาทต่อปี ช่วยให้ครัวเรือนในชุมชนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายก๊าซหุงต้ม LPG ครัวเรือนละ 2,806 บาทต่อปี หรือลดลงร้อยละ 80.21
นอกจากนี้ อบต.ท่ามะนาว ได้เข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มีการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่ลดการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ และให้การรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตซึ่งสามารถนำไปจำหน่ายให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนผู้ที่สนใจจะนำไปชดเชยกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง
ปรากฏว่า ตั้งแต่ปี 2559–2563 สามารถขายคาร์บอนเครดิตแล้วรวมทั้งสิ้น 7,235 ตัน CO2 คิดเป็นเงิน 1,853,234.03 บาท โดยในปี 2564 มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง 5,156 ตัน CO2 คิดเป็นมูลค่า 1,031,213 บาท โดยรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตจะนำเข้าวิสาหกิจชุมชนผู้ใช้ก๊าซจากมูลสัตว์.