ปีนี้ราคาผักในตลาดแพงขึ้นต่อเนื่องจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตในตลาดลดลง มิหนำซ้ำยังต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น สำหรับผู้ค้าผักรายย่อยต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีนี้ราคาผักแพงเป็นประวัติการณ์ ตัวอย่างเช่น ต้นหอม เดิมเคยขายกิโลกรัมละ 50 – 80 บาท ขณะนี้ขึ้นมาถึงกิโลกรัมละ 200 – 220 บาท ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับค่าใช้จ่าย และมีแนวโน้มว่าราคาจะปรับขึ้นต่อเนื่อง
“ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” สอบถามไปยัง “ธัญญารัตน์ เขื่อนควบ” เจ้าของร้านผักธัญญารัตน์ ผักสด ย่านวิภาวดีรังสิต 16/33 กรุงเทพฯ ให้ข้อมูลว่า ผักสดแพงขึ้นต่อเนื่องกว่าทุกปี เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย สำหรับตัวเองพยายามปรับตัวด้วยการลดราคาให้เหมาะสม แต่ก็ส่งผลกระทบต่อกำไรที่ลดลงต่อเนื่อง บางวันได้กำไรแค่หลักร้อย จากเดิมที่ได้หลายพันบาทต่อวัน ขณะเดียวกันก็ต้องปรับเปลี่ยนการขาย โดยการนำผักที่แพงมาขายปนกับผักที่มีราคาถูก ด้วยการมัดขายรวมกันเป็นกำ
สำหรับผักที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นขณะนี้คือ 1. ต้นหอม เดิมขายกิโลกรัมละ 50 – 80 บาท ตอนนี้ราคาพุ่งไปถึงกิโลกรัมละ 200 บาท 2. ผักบุ้งจีน เดิม 5 กิโลกรัม ขายมัดละ 250 บาท ขณะนี้ราคาปรับขึ้นเป็นมัดละ 350 บาท 3. พริกแดง เดิมกิโลกรัมละ 30 บาท ปัจจุบันกิโลกรัมละ 75 บาท 4. ข้าวโพดอ่อน เดิมขายแพ็กละ 8 บาท ปัจจุบันแพ็กละ 13 บาท
จากประสบการณ์คาดว่าราคาผักจะเริ่มกลับมาปกติในช่วงเดือนธันวาคม เพราะขณะนี้เกษตรกรหลายพื้นที่ถูกน้ำท่วม และจะกลับมาเพาะปลูกใหม่ได้หลังน้ำลด
“ลูกค้าที่มาซื้อผักตอนนี้มีการปรับตัว ด้วยการซื้อผักน้อยลง ทำให้ยอดขายของทางร้านตกลง แต่มีลูกค้าหลายเจ้าที่จำเป็นต้องใช้ผักก็พยายามขายให้ราคาเหมาะสมที่สุด ตัวอย่างเช่น ลูกค้าที่เปิดร้านยำ จำเป็นต้องใช้ต้นหอม ก็อาจต้องลดส่วนผสมตรงนี้ลงจากเดิม”
ส่วนตัวคิดว่าการแก้ปัญหาเรื่องราคาผักแพงเป็นไปได้ยาก เพราะที่ผ่านมาผักก็ขึ้นราคามาตลอด แม้รัฐบาลจะมีการเข้ามาแทรกแซงเรื่องราคาให้มีความเหมาะสม แต่หลังจากนั้นราคาก็กลับมาแพงอีก โดยเฉพาะปีนี้ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องจ่ายค่าปุ๋ยแพงขึ้น ทำให้ราคาผักในท้องตลาดแพงขึ้นกว่าทุกปี
เช่นเดียวกับค่าขนส่งที่ราคาน้ำมันก็ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลาดผักที่ไปรับส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดปทุมธานี นครปฐม ราชบุรี โดยทางร้านพยายามเปรียบเทียบราคาของทุกตลาดให้ได้ผักที่มีราคาถูกที่สุด
“ทุกวันนี้ขายแบบอยู่ไปวันๆ จะไปหวังให้ได้กำไรมากเหมือนก่อนคงไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องเลี้ยงลูกน้องให้อยู่รอด ถ้าเลิกขายผักลูกน้องก็ไม่มีรายได้เลี้ยงลูก เลยต้องยอมกัดฟัน แม้ได้กำไรน้อยลง แต่ก็ต้องพยายามเกื้อกูลกันให้ลูกค้าอยู่ได้”
ผักแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ทำให้ผู้ค้ารายย่อยหลายรายต้องปิดตัวลง โดยพ่อค้าร้าน “เอ ผักสด” ย่านงามวงศ์วาน กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ราคาผักปีนี้แพงขึ้นอย่างน่าตกใจ เพราะบางอย่างขึ้นทีกิโลกรัมละ 50 บาท แต่ตอนราคาลดลงจะลงทีละ 10 บาท ซึ่งผู้ค้ารายย่อยหลายรายจำเป็นต้องแบกต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ผักที่มีราคาพุ่งสุดที่สุดขณะนี้คือ 1. ต้นหอม เดิมขายกิโลกรัมละ 60 – 80 บาท ตอนนี้ขายกิโลกรัมละ 220 บาท 2. ใบโหระพา เดิมกิโลกรัมละ 50 บาท ปัจจุบันกิโลกรัมละ 104 – 120 บาท 3. กะเพรา เดิมกิโลกรัมละ 50 บาท ขณะนี้กิโลกรัมละ 160 บาท
“หน้าหนาวนี้ผู้บริโภคจะต้องปรับตัว เพราะผักประเภทที่ใช้ใบ จะมีราคาพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากมีผลผลิตในตลาดน้อยลง ซึ่งบางครั้งผักที่มีราคาสูงเกินไป ก็จะไม่รับมาขายต่อ เนื่องจากผักเป็นสินค้าที่ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน หากไม่มีคนซื้อก็เสี่ยงที่จะขาดทุนได้”
ปัจจัยที่ทำให้ราคาผักแพงมาจากพ่อค้าคนกลาง หลายครั้งเมื่อมีผักชนิดใดให้ผลผลิตในตลาดน้อย ก็จะถือโอกาสขึ้นราคา เลยทำให้ปีนี้ราคาผักในตลาดมีความผันผวนสูง ซึ่งถ้าหน่วยงานภาครัฐไม่พยายามแก้ในปัญหานี้ จะยิ่งทำให้ผู้บริโภครับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น และอาจแก้ไขได้ยากมากขึ้นในอนาคต.