นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยถึงผลการศึกษารูปแบบการขนส่งทุเรียนสดจากประเทศไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) รูปแบบการขนส่งทุเรียนสดจากไทยไปจีนเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่นิยมใช้การขนส่งทางน้ำเปลี่ยนเป็นการขนส่งทางถนนเพิ่มขึ้น โดยในปี 2560 ล้งใช้การขนส่งทางน้ำเป็นหลักมากถึง 90.87% ทางถนน 9.11% ทางอากาศ 0.02%
“มาปี 2562 ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการขนส่งทุเรียน เพราะล้งได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางน้ำไปเป็นทางถนนมากขึ้น และในปี 2564 การขนส่งทางถนนเป็นหลัก 70.63% ทางน้ำ 29.23% ทางอากาศ 0.14% ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การขนส่งทุเรียนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการขนส่งทางน้ำเป็นทางถนน คือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ การขนส่งและขนถ่ายล่าช้า ทำให้ผลผลิตเสียหาย และอัตราค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่การขนส่งทางถนน สามารถขนส่งได้อย่างรวดเร็ว และสามารถขนส่งไปยังจุดกระจายสินค้าในจีนโดยไม่ต้องมีการขนถ่าย อีกทั้งยังมีความคล่องตัวสูงในการปรับเปลี่ยนเส้นทางระหว่างการขนส่งเมื่อด่านนำเข้าของจีนปิดกะทันหัน”
นอกจากนี้อัตราค่าขนส่งทางน้ำและทางถนน ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่การขนส่งทางน้ำมีข้อเสีย คือไม่สามารถขนส่งไปยังแหล่งกระจายสินค้าในจีนได้โดยตรง จำเป็นต้องใช้การขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุกหรือรถไฟเพิ่มเติม อาจจะทำให้เกิดต้นทุนค่าขนส่งที่สูงกว่าทางถนนได้ ขณะที่ การขนส่งทางอากาศ ใช้ระยะเวลาน้อยที่สุด แต่อัตราค่าขนส่งสูง รวมทั้งยังมีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถขนส่งไปยังแหล่งกระจายสินค้าในจีนได้ จำเป็นต้องใช้การขนส่งหลายรูปแบบ เช่นเดียวกับการขนส่งทางน้ำ
สำหรับรายละเอียดค่าขนส่งแต่ละประเภท ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. เผยว่าการขนส่งทางน้ำจากท่าเรือแหลมฉบังของไทยไปยังท่าเรือเซี่ยงไฮ้และชิงต่าวของจีน มีอัตราค่าขนส่งต่ำสุดอยู่ที่ กก.ละ 12 บาท ขณะที่การขนส่งโดยรถบรรทุก มีอัตราค่าขนส่งอยู่ที่ กก.ละ 14-22 บาท ขึ้นอยู่กับเส้นทางที่ใช้ หากใช้เส้นทาง R3A จากด่านศุลกากรเชียงของ จ.เชียงราย ผ่านด่านบ่อเต็น (สปป.ลาว) ด่านโม่ฮาน (จีน) ไปมณฑลยูนนาน อัตราเริ่มต้นอยู่ที่ กก.ละ 14 บาท หากใช้เส้นทาง R12 จากด่านศุลกากร จ.นครพนม ผ่านด่านน้ำพราว (สปป.ลาว) ผ่านด่านจาลอ (เวียดนาม) ผ่านด่านโหย่วอี้กวน (จีน) ไปมณฑลหนานหนิง อัตราอยู่ที่ กก.ละ 22 บาท ส่วนการขนส่งทางอากาศมีอัตราค่าขนส่ง กก.ละ 65 บาท
เพื่อให้การบริหารต้นทุนค่าขนส่งคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ล้งควรเลือกใช้รูปแบบการขนส่งให้เหมาะสมกับปริมาณผลผลิตตามฤดูกาลผลิตและความ ต้องการบริโภคของตลาดจีน ช่วงต้นฤดู ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ผู้บริโภคชาวจีนมีความต้องการบริโภคทุเรียนสดคุณภาพดีเกรดพรีเมียม ล้งควรเลือกรูปแบบการขนส่งทางอากาศ เพื่อให้ทุเรียนสดถึงปลายทางได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค และยังสามารถขายทุเรียนสดได้ในราคาที่สูง ซึ่งการขนส่งรูปแบบนี้เหมาะสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อและมีความต้องการบริโภคโดยไม่สนใจราคา
สำหรับช่วงกลางฤดู ผลผลิตทุเรียนสดออกสู่ตลาดมาก ล้งต้องการส่งออกในปริมาณมาก ควรเลือกการขนส่งทางถนนควบคู่กับการขนส่งทางน้ำ เพื่อลดความแออัดของการจราจรหน้าด่าน ทำให้ขนส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างต่อเนื่อง สามารถกระจายสินค้าไปยังตลาดจีนในเมืองต่างๆ ได้หลากหลาย และมีต้นทุนค่าขนส่งโดยรวมถูกลง ส่วนช่วงปลายฤดู ผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับความต้องการบริโภคและราคาทุเรียนในตลาดจีนลดลง ล้งควรเลือกรูปแบบการขนส่งทางน้ำเพื่อบริหารต้นทุนค่าขนส่งให้ต่ำที่สุด.