ค้นหา

เสียงสะท้อนจากเกษตรกรตัวจริง ชี้เป้าแหลมฉบังเส้นทางหมูเถื่อนยุโรป

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 511 ครั้ง
เสียงสะท้อนจากเกษตรกรตัวจริง ชี้เป้าแหลมฉบังเส้นทางหมูเถื่อนยุโรป

“ปี 2565 นับเป็นปีแห่งวิกฤติของคนเลี้ยงหมู จากต้นทุนการเลี้ยงที่สูง ทำให้ผู้เลี้ยงต้องแบกรับต้นทุนสูง จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนตั้งแต่ช่วงต้นปี ส่งผลให้ต้นทุนของภาคปศุสัตว์ที่สูงอยู่แล้วตั้งแต่ปลายปีก่อน พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รำ ข้าวสาลี กากถั่วเหลือง โดยต้นทุนวัตถุดิบสำคัญเพิ่มขึ้นรวม 25-30% ยังไม่รวมโรคระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจหมู โรคระบบทางเดินอาหาร และที่สาหัสสุดคือโรคอหิวาต์แอฟริกัน ยิ่งส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น โดยบางฟาร์มมีต้นทุนต่อตัวหมูถึง 500 บาทต่อ กก. ส่วนรายที่เสียหายและไม่สามารถไปต่อได้ ทำให้ปริมาณหมูในระบบลดลง จากลูกหมูที่เคยผลิตได้ปีละ 21-22 ล้านตัว ซึ่งรองรับการบริโภคในประเทศได้อย่างเพียงพอ เหลือแค่ปีละ 12-13 ล้านตัว

ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มหมูไทย สะท้อนถึงมุมมองเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในภาวะวิกฤติรอบด้าน…ในภาวะที่ผู้เลี้ยงหมูพยายามประคับประคองราคาหน้าฟาร์มไว้ที่ กก.ละ 100 บาท กลับมีวิกฤติซ้อนวิกฤติให้เกษตรกรเผชิญคือ “หมูเถื่อน” หรือ “หมูกล่อง” จากประเทศต่างๆ เช่น บราซิล เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สเปน มาในรูปของเนื้อหมู และชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งขา หัว เครื่องใน ที่ออกมาขาย กันเกลื่อนเมือง และขายในราคาต่ำมาก กก.ละ 135-140 บาท ซึ่งหมูเถื่อนเหล่านี้มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อ ASF แทบทั้งหมด จากที่มีการตรวจพบเชื้อนี้ในเนื้อหมูที่ขายตามตลาดในกรุงเทพฯ อีกทั้งยังมีการใช้สารเร่งเนื้อแดง สารต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ของไทย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากประเทศต้นทางยังไม่เข้มงวดกับสารตกค้างในเนื้อสัตว์ ทั้งยาปฏิชีวนะ สารเร่งเนื้อแดง และยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ หมูเถื่อนลักลอบนำเข้ายังเป็นเนื้อหมูหมดอายุจากประเทศต้นทาง ทำให้สามารถขายได้ในราคาถูก ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับหมูขยะ ทำให้ประเทศต้นทางไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำลาย

แต่ส่งบรรดาเศษหมูเหลือทิ้งเข้ามาทำลายกลไกการเลี้ยงหมูในประเทศ ซึ่งผู้บริโภคต้องไม่เห็นแก่ของถูก ควรเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ด้วยการสังเกตสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ที่การันตีกระบวนการผลิตหมูปลอดภัยไร้สารตกค้าง

ส่วนผู้ค้าต้องไม่นำหมูเถื่อนเหล่านี้มาขาย เพียงเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ขอให้เห็นแก่สุขอนามัยที่ดีของผู้บริโภคไทยทุกคน รวมทั้งยังช่วยพยุงอาชีพการเลี้ยงหมูของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งการเลี้ยงหมูช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องมากกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท ด้าน นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อธิบายเพิ่มเติม ขณะนี้มีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมาทางด่านที่เป็นช่องทางธรรมชาติจำนวนมาก เช่น สระแก้ว บุรีรัมย์ อุบลราชธานี มุกดาหาร โดยเฉพาะด่านหนองคายที่มีเข้ามาเป็นจำนวนมาก ล่าสุด กรมปศุสัตว์ตรวจจับหมูเถื่อนได้ที่ด่านมุกดาหาร จำนวน 2 ตัน ขอให้กรมปศุสัตว์และกรมศุลกากรร่วมดำเนินการตรวจจับหมูเถื่อนอย่างเข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากผู้เลี้ยงมีความกังวลมากกับโรคต่างๆที่อาจแฝงมากับหมูเถื่อน รวมถึงการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง จึงต้องการให้ภาครัฐกวดขันการปราบปรามแบบล้างบางขบวนการนี้ให้หมดสิ้นโดยเร็ว ก่อนที่จะทำลายอุตสาหกรรมหมูไทยทั้งระบบ

“แม้ภาครัฐทั้งกรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร จะออกข่าวการจับกุมมาเป็นระยะๆ น่าแปลกใจที่การจับยึดหมูเถื่อนช่วงที่ผ่านๆ มา ไม่เคยมีการเปิดเผยให้ทราบถึงต้นตอของผู้ลักลอบนำเข้ามาเลย ทำให้ขบวนการลักลอบนำเข้ายังคงลอยนวล ซึ่งหมูเถื่อนที่นำเข้ามา โดยเฉพาะจากประเทศในยุโรปเป็นหมูหมดอายุ เรียกว่าเป็นขยะของประเทศต้นทาง และปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง จึงอยากให้หน่วยงานเหล่านี้จริงจังกับการตรวจจับหมูเถื่อนมากขึ้นกว่าที่จะรอให้เกษตรกรร้องขอ จึงตรวจจับให้พอเห็นเป็นความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งมีเครื่องตรวจเอกซเรย์ทันสมัย ทำไมจึงไม่เคยตรวจจับหมูเถื่อนที่ปนมากับสินค้าอื่นได้เลย น่าจะเป็นเหตุที่ทำให้ขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนไม่ระคายเคืองอะไรเลย”.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/2547683