ค้นหา

63 ปี วช. ปั้นศูนย์เกษตรวิถีเมือง โชว์งานวิจัยมุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 391 ครั้ง

“ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ครบรอบ 63 ปี นอกจากการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมหลากหลายผลงาน อันมีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์ต่อสาธารณชนแล้ว เรายังได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนาพื้นที่ตั้งเดิม ภายในพื้นที่ วช.เป็นศูนย์เกษตรวิถีเมือง เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้พร้อมกับถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีการปลูกพืชผักอย่างง่ายในพื้นที่จำกัด ที่สามารถใช้พื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถออกแบบปรับเปลี่ยนได้ตามความเป็นจริง รวมถึงเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการต่อยอดแปรรูปพืชผักที่ปลูกได้”

63 ปี วช. ปั้นศูนย์เกษตรวิถีเมือง โชว์งานวิจัยมุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บอกถึงกิจกรรมพิเศษเปิดพื้นที่ วช.เป็นศูนย์เกษตรวิถีเมือง ในโอกาสสถาปนาครบรอบ 63 ปี

นอกจากศูนย์ฯแห่งนี้จะเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ประชาชนทั่วไปแล้ว ยังใช้ประโยชน์ในด้านการทดลอง รวบรวม และสาธิตการใช้ประโยชน์นวัตกรรมและองค์ความรู้ในการเพาะปลูกพืชอาหาร โดยโครงการได้ดัดแปลงพื้นที่รกร้าง ปรับเปลี่ยนให้เกิดประโยชน์ ใช้อุปกรณ์การเพาะปลูกที่ไม่ซับซ้อน สามารถหาซื้อหรือดัดแปลงได้ง่าย ปรับใช้ได้จริงกับพื้นที่รกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบ

นอกจากนี้ โครงการยังได้รับการสนับสนุนวัสดุก่อสร้างบางส่วนจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่ได้คัดสรรวัสดุจากแนวคิดการนำกลับมาใช้ และการเพิ่มมูลค่าจากขยะอุตสาหกรรมรีไซเคิล เช่น อิฐบล็อกจากขยะโรงไฟฟ้าฯ ยางมะตอยพื้นถนนจากพลาสติก เหลือใช้ รวมถึงนวัตกรรมทางด้านการประหยัดพลังงานด้วยการใช้พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเหมาะสม เพื่อเป็นตัวอย่างในการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานด้วยนวัตกรรมพลังงานสะอาด ตลอดจนการศึกษาและคัดสรรพันธุ์พืชอาหารที่เหมาะสมกับพื้นที่และสภาพอากาศในเมือง

ทั้งนี้ ภายในศูนย์เกษตรวิถีเมืองได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากโครงการปลูกผักในเมือง, การฝึกอบรมเรื่อง “เชื้อเพลิงก้อนจากแอลกอฮอล์ง่ายนิดเดียว”, การสาธิตการจัดสวนสวยในขวดแก้ว, การเวิร์กช็อปนักปรุงน้ำหอมมือใหม่ และการ D.I.Y สเปรย์แอลกอฮอล์กลิ่นสมุนไพรไทย, การอบรมพื้นฐานการปลูกผักในดินและการประยุกต์สู่การปลูกผักในเมือง, การปรับปรุงอาคารให้เหมาะสมกับการปลูกพืชในเมือง, การปลูกไม้ผลในกระถางเพื่อควบคุมขนาดทรงพุ่มและยังให้ผลตามปกติ, การอบรมระบบบำบัดน้ำเสียชนิดบึงประดิษฐ์ สำหรับบ้านพักอาศัย และการปรุงดินและปลูกผักสลัดในกระถาง นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการโรงกลั่นแอลกอฮอล์อีกด้วย

สำหรับงานวิจัยและนวัตกรรมที่ วช.ให้การสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อน ที่ตอบโจทย์ต่อสังคมเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยั่งยืน 3 ผลงาน ได้แก่ 1) Beeplus-อาหารเสริมทดแทนเกสรดอกไม้สำหรับเลี้ยงผึ้งพันธุ์ BIO-FERA-จุลินทรีย์ผสมเอนไซม์ชีวภาพ โดย ดร.บาจรีย์ ฉัตรทอง และคณะแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีโภชนาการที่สำคัญ อาทิ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน แร่ธาตุ วิตามินดี และกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน ที่จำเป็นต่อผึ้งในการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต

2) เครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อนและผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดอบแห้ง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นนทนันท์ พลพันธ์ และคณะ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ความโดดเด่นคือ ใช้วิธีการอบแห้งจิ้งหรีดด้วยเครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อน ลดความชื้นจิ้งหรีดปริมาณน้ำอิสระน้อยกว่า 0.6 ซึ่งเป็นระดับที่ปลอดภัยจากจุลินทรีย์ก่อโรค ยับยั้งการสร้างสารพิษของเชื้อรา การอบแห้งด้วยเทคนิคนี้ใช้อุณหภูมิในการอบแห้งต่ำ ผลิตภัณฑ์ที่ได้หลังการอบแห้งจึงมีคุณภาพที่ดี และได้ทำการศึกษารูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมในการเก็บรักษาเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดอบแห้ง ทำให้ไม่ต้องแช่แข็งแบบเดิมให้สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า น้ำหนักเบาทำให้ประหยัดค่าขนส่ง

3) ตุ๊กตายาดมไทยทรงดำบ้านดอน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์รุจิราภา งามสระคู และคณะแห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เป็นการนำวัฒนธรรมการแต่งกายของไทยทรงดำที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ของชุมชนไทยทรงดำ ต.บ้านดอน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี มาผสมผสานในเชิงมิติทางวัฒนธรรมสู่การต่อยอดเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าตุ๊กตาดินประดิษฐ์ สำหรับบรรจุยาดมและยาหม่อง ที่มีส่วนผสมของ มะแข่น และนำแป้งข้าวโพดมาปั้นตุ๊กตาดินประดิษฐ์.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/2549923