ค้นหา

“ปลูกผักในกะละมัง” ต้นทุนต่ำ ดูแลง่าย สร้างรายได้กะละมังละร้อย

เทคโนโลยีชาวบ้าน
เข้าชม 1,262 ครั้ง

สำหรับเทคนิคของการปลูกผักไว้กินเองหรือขายนั้นมีมากมายหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผักลงดิน ปลูกผักในกระบะสำเร็จรูป หรือปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในระบบน้ำนิ่ง หรือน้ำวน ก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละบุคคล แต่ในฉบับนี้จะขอยกตัวอย่างการปลูกพืชผักสวนครัว และผักสลัดใน “กะละมัง” ซึ่งการปลูกผักในกะละมังถือเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ต้นทุนต่ำ เหมาะทั้งในรูปแบบของการปลูกไว้กินเองใช้พื้นที่ไม่มาก และในรูปแบบของการปลูกเพื่อสร้างรายได้ก็ดีไม่น้อย

คุณจารินี ป้อมน้อย หรือ คุณบู อยู่บ้านเลขที่ 119/4 หมู่ที่ 1 ตำบลวัดประดู่ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี สาวใต้ใจรักในงานเกษตร ที่ยึดอาชีพการปลูกพืชผักสวนครัว และผักสลัดในกะละมังสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวมานานกว่า 3 ปี โดยมีเคล็ดลับการปลูกผักให้รสชาติหวาน กรอบ ด้วยปุ๋ยหมักสูตรทำเอง และการดูแลรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ สร้างรายได้ต่อสัปดาห์ไม่น้อย

คุณบู เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ตนประกอบอาชีพเป็นแม่ค้าขายขนมหวานตามตลาดนัดมาก่อน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รายได้จากการขายขนมหวานหดหายไป ตนจึงหันมาทดลองปลูกพืชผักสวนครัวขายเล็กน้อยเพื่อสร้างรายได้เสริม เพราะมองว่าในสถานการณ์ที่เกิดโรคระบาด ส่งผลทำให้เศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก อาหารถือเป็นสิ่งสำคัญ และการลงมือทำก็ได้ผล เพราะผักที่ปลูกได้ผลตอบรับดี ลูกค้าเริ่มติดใจในรสชาติและความกรอบของผักที่เราปลูก จึงได้มีการขยายพื้นที่ปลูกผักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โดยช่วงแรกเริ่มจากการปลูกผักในกระถาง ขนาด 8 นิ้ว ก็พบปัญหาว่าการปลูกผักในกระถางปลูกได้น้อย จึงเริ่มมองหาภาชนะอย่างอื่นที่จะสามารถปลูกผักได้มากขึ้นแต่ต้องมีต้นทุนไม่สูง นั่นก็คือการปลูกผักในกะละมัง ซึ่งข้อดีของการปลูกผักในกะละมัง คือ 1. สะดวกในการดูแลรักษา สามารถปรุงดินปลูกได้สะดวก 2. ประหยัดเวลาในการกำจัดวัชพืช 3. บำรุงใส่ปุ๋ยได้ทั่วถึง 4. การดูแลกำจัดโรคแมลงง่ายขึ้น ใช้เพียงสารชีวภัณฑ์ เช่น น้ำส้มควันไม้ ในการฉีดพ่น 5. ต้นทุนในการจัดการดูแลถูกกว่า การปลูกลงดิน ในส่วนของค่าปุ๋ยและสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดวัชพืช และ 6. ขายได้ราคาดี เพราะเป็นผักปลอดสารพิษ

เทคนิค การปลูกผักในกะละมัง ปลูกง่าย ต้นทุนต่ำ รายได้ดี

เจ้าของบอกว่า ในบริเวณบ้านมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1 ไร่เศษ แบ่งเป็นพื้นที่สร้างบ้าน ทำโรงจอดรถ และแบ่งพื้นที่ไว้สำหรับปลูกผักออกเป็น 2 โซน คือ โซนสำหรับการปลูกผักใบ และโซนสำหรับปลูกพืชผักสวนครัว เช่น โหระพา มะเขือ พริก และอื่นๆ ตามความต้องการของตลาดที่มากหรือน้อยในแต่ละช่วง

ปัจจุบัน ที่สวนใช้กะละมังในการปลูกสลับหมุนเวียนเพื่อให้ผลผลิตเก็บขายได้สม่ำเสมออยู่จำนวนประมาณ 300 ใบ มีการจัดการวางแผนการปลูกให้มีผักขายได้ทุกนัด (คือตลาดนัดที่จะเก็บผักไปขายทุกวันอังคาร พฤหัสฯ และวันเสาร์) โดยการแบ่งปลูกผักครั้งละ 12 ใบ ปลูกแบบวันเว้นวันหมุนเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ผักเจริญเติบโตได้ไล่เลี่ยกัน และเป็นการปลูกในโรงเรือนเพื่อลดอุปสรรคการปลูกในช่วงฤดูฝน และความเสี่ยงการเกิดโรคพืชและโรคแมลง

โรงเรือนสำหรับปลูกผักในกะละมัง

เทคนิคการปลูก

หลังจากหยอดเมล็ดเสร็จ รดน้ำให้พอชุ่ม จากนั้นนำซาแรนกันแดดมาปิดคลุมไว้ประมาณ 2 วัน เมล็ดก็จะงอกขึ้นมา
  1. เริ่มจากการนำกะละมังมาเจาะรูเพื่อไว้สำหรับระบายน้ำให้ทั่วก้นกะละมัง ด้วยสว่านขนาด 3 หุน จำนวน 8 รู (โดยกะละมังที่นำมาปลูกผักมีขนาดความกว้าง 45 เซนติเมตร สูง 16 เซนติเมตร หาซื้อได้จากร้านขายพลาสติกทั่วไป)
  2. การปรุงดินปลูก ประกอบไปด้วย 1. ดิน 2 ส่วน 2. แกลบ 1 ส่วน 3. ขี้วัว หรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วน 4. ขุยมะพร้าว 1 ส่วน และ 5. ใบไผ่ 1 ส่วน นำมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วรดด้วยน้ำหมักจากเศษผัก ผลไม้ หมักทิ้งไว้ 7 วัน โดยให้ใช้ผ้าคลุมปิดไว้เพื่อไม่ให้ดินโดนแสงแดด ช่วยลดอุณหภูมิของส่วนผสมต่างๆ ให้ย่อยสลายได้ดีขึ้น
  3. หลังจากหมักดินจนได้ที่ ให้นำดินมาใส่ในกะละมังที่เจาะรูเตรียมไว้ แล้วหยอดเมล็ดผักที่ต้องการลงปลูกได้เลย
  4. อัตราการปลูกผัก ต่อ 1 กะละมัง หากเป็นผักสวนครัว อย่างเช่น ผักกาดขาว คะน้า กวางตุ้ง ขึ้นฉ่าย ต้นหอม สามารถปลูกผักได้ประมาณ 11 หลุม หยอดหลุมละประมาณ 4 เมล็ด หรือดูที่อัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์ในแต่ละซองประกอบ ส่วนถ้าเป็นผักสลัด 1 กะละมัง สามารถปลูกได้ประมาณ 5 ต้น หรือ 5 หลุม ด้วยลำต้นที่มีขนาดใหญ่กว่าผักสวนครัว ทำให้ปลูกได้ในจำนวนต้นที่น้อยกว่า

การดูแลรดน้ำ-ใส่ปุ๋ย จนถึงเก็บเกี่ยว

วางแผนการปลูกผักในกะละมังครั้งละ 12 ใบ
กะละมังนี้ มีมูลค่า 50 บาท

ระบบน้ำ หลังเสร็จจากขั้นตอนการหยอดเมล็ด ใช้สายยางฉีดเป็นละอองฝอยให้ดินชุ่มพอประมาณ จากนั้นนำซาแรนกันแดดมาปิดคลุมไว้ประมาณ 2 วัน เมล็ดก็จะงอกขึ้นมา จากนั้นให้นำซาแรนออก เพื่อให้ต้นกล้าได้รับแสงแดด รดน้ำตามปกติทุกวัน เช้า-เย็น

การบำรุงใส่ปุ๋ย หลังจากหยอดเมล็ดได้ประมาณ 2 สัปดาห์ เริ่มใส่ปุ๋ยทุก 2 วันครั้ง จนถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยปุ๋ยที่ใช้จะเป็นปุ๋ยหมักจากเศษผัก ผลไม้ กับกากน้ำตาล นำมาผสมน้ำฉีดพ่นในอัตราส่วน น้ำหมัก 3 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำเปล่า 10 ลิตร

เด่นวันนี้1010

0:04/0:40

การป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช 1. การป้องกันหนอน จะใช้น้ำส้มควันไม้ในการป้องกันและกำจัด ควบคู่กับการหมั่นสำรวจตรวจแปลง สังเกตดูหนอนทุกเช้า ถ้าเห็นใช้มือหยิบออกทันที 2. การป้องกันกำจัดเพลี้ยด้วยพริกป่น ในอัตราส่วนพริกป่น 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 10 ลิตร นำมาฉีดพ่นกำจัดเพลี้ย ถือเป็นสูตรธรรมชาติที่ช่วยกำจัดเพลี้ยอย่างได้ผล โดยวิธีการฉีดให้ฉีดไปที่ใต้ใบของผัก

เทคนิคสำคัญ “ปลูกผักให้หวาน กรอบ”

เทคนิคสำคัญที่ทำให้ผักออกมารสชาติหวาน กรอบ คุณบู บอกว่า ตัวช่วยสำคัญคือปุ๋ยหมักจากเศษผัก ผลไม้ และการหมั่นรดน้ำเช้า-เย็น โดยเฉพาะช่วงก่อนวันเก็บเกี่ยวผลผลิต ตัวอย่างเช่น “หากเราต้องการตัดผักตอนเช้า ตอนเย็นให้รดน้ำผักไว้เลย รดในปริมาณที่มากกว่าปกติ เพื่อให้ผักได้กินน้ำอย่างเต็มที่ แล้วผักที่ตัดออกมาจะหวานกรอบ และการตัดผักตอนเช้า ถึงบ่ายมาได้ขายเลย ก็ถือเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ผักของเรามีความหวานกรอบ ต่างไปจากแผงผักทั่วไปที่ต้องสั่งผักมาจากที่ไกลๆ ทำให้ความสด ความกรอบ หายไปหมดแล้ว”

ปรุงดินดี ปลูกผักอะไรก็งาม

เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 3 ช่วง สร้างรายได้เพิ่ม

ในส่วนของการเก็บเกี่ยวผลผลิต คุณบู อธิบายว่า วิธีของที่สวนจะมีความแตกต่างจากที่อื่น คือจะมีการเก็บผักแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 จะเป็นการเก็บผักเล็กที่มีอายุประมาณ 20 วัน จะทำการถอนแยกเป็นผักเล็กไปขาย ช่วงที่ 2 เป็นผักที่มีอายุประมาณ 30 วัน เป็นผักที่โตขนาดกลาง และช่วงที่ 3 ผักที่มีอายุประมาณ 40 วัน ที่เป็นช่วงเจริญเติบโตเต็มที่ ต้นอวบ สมบูรณ์

การผสมดิน หมักดิน การนำมาปลูก เพื่อให้ได้ผักที่มีคุณภาพ

“จุดเริ่มต้นของการเลือกเก็บผักออกเป็น 3 ช่วง เกิดขึ้นมาจากความเสียดายในช่วงที่หว่านเมล็ดพันธุ์ในตอนแรกที่ไม่สามารถคาดการณ์ความงอกของเมล็ดได้ว่าจะงอกมากหรือน้อย จึงปล่อยให้ผักโตขึ้นมาในระดับหนึ่ง แล้วสังเกตดูว่าถ้าผักเจริญเติบโตเยอะจนต้นเบียดกันเกินไป ก็จะเก็บเป็นผักเล็กออกมาขาย ซึ่งก็ได้ผลตอบรับจากลูกค้าที่ดีมาก วิธีการรับประทานคือนำไปล้างน้ำ แช่ตู้เย็นแล้วรับประทานแบบสดๆ จะอร่อยมาก ถือว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผักที่ต้องทิ้ง มาวันนี้ผักเหล่านี้สามารถสร้างมูลค่าได้”

ปลูกผักบุ้งในกะละมัง ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ

ต้นทุนการปลูก “กะละมังละ 15 บาท”

การปลูกผักในกะละมัง ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยประหยัดทั้งต้นทุนและพื้นที่ในการปลูก สำหรับต้นทุนการปลูกผักสวนครัว 1. กะละมัง ซื้อครั้งเดียวสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง 2. ดินปลูก สามารถปลูกซ้ำได้ 2-3 ครั้ง จึงค่อยเปลี่ยนดินปลูกใหม่ 3. ค่าเมล็ดพันธุ์ผัก 1 ซอง สามารถปลูกได้ประมาณ 50 กะละมัง 4.ปุ๋ยหมักที่ทำขึ้นมาเอง ทำให้ต้นทุนในการปลูกการดูแลต่ำมาก หากคิดต้นทุนเฉลี่ยเป็นเงินประมาณ 15 บาท ต่อ 1 กะละมัง แต่สามารถเก็บผลผลิตมาขายได้เป็นเงินประมาณ 100 บาท สำหรับส่วนของพืชผักสวนครัว แต่ถ้าเป็นในส่วนของผักสลัดจะมีรายได้ประมาณ 50 บาท ต่อ 1 กะละมัง

ดูแลจัดการง่าย ผักงามทุกต้น

การตลาดเป็นลักษณะของการปลูกเองขายเอง โดยมีหน้าร้านขายประจำอยู่ที่ตลาดนัด บขส. สุราษฎร์ธานี ทุกวันอังคาร, พฤหัสฯ, เสาร์ ในส่วนของรายได้แต่ละวัน หากวันไหนมีผักปริมาณมากก็ขายได้ 1,000-2,000 บาท นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ตนเองและครอบครัวมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก ด้วยการทำงานที่ไม่ต้องเป็นลูกน้องใคร เหนื่อยก็พัก และได้อยู่กับครอบครัวอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ถือเป็นความสุขที่สุดแล้ว คุณบู กล่าวทิ้งท้าย

ปลูกเอง-ขายเอง พิกัดข้างโรงพยาบาลกรุงเทพสุราษฎร์

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 098-016-9920 หรือติดต่อได้ที่ช่องทางเฟซบุ๊ก : สวนผักบ้านน้องชมพู

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_233559