ค้นหา

บอร์ดมาตรฐานสินค้าเกษตรเห็นชอบ 6 ร่างมาตรฐาน พร้อมยกระดับสินค้าเกษตรสู่เวทีโลก

สำนักข่าวอินโฟเควสท์
เข้าชม 313 ครั้ง

นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 4/2565 ว่า ในที่ประชุมได้พิจารณาร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับมาตรฐานทั่วไป (ฉบับที่ 4) พ.ศ. ? โดยได้ดำเนินการจัดทำร่างค่าบริการตรวจสอบ และรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับ GAP และ Organic สำหรับสินค้าเกษตร จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทพืชอาหาร พืชสมุนไพร ไม้ผล หม่อน ไม้ดอก เห็ด ชา และกาแฟ 2. ประเภทพืชไฮโดรโพนิกส์ และ 3. ประเภทข้าว พืชไร่ พืชเกษตรอุตสาหกรรม ยางพารา และพืชอาหารสัตว์

และการทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์ การรวบรวม การคัดบรรจุ แปรรูป และจัดจำหน่ายพืชอินทรีย์ (Organic) สำหรับสินค้าเกษตร จำนวน 2 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทพืชอาหาร พืชสมุนไพร ไม้ผล หม่อน เห็ด ชา และกาแฟ และ 2. ประเภทข้าว พืชไร่ พืชเกษตรอุตสาหกรรม ยางพารา และพืชอาหารสัตว์

นอกจากนี้ ยังได้มีการพิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 6 เรื่อง เพื่อประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศ ได้แก่

1. หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียน สำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ เนื่องจากมีข้อมูลว่าในช่วงต้นฤดูจะมีการตัดทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาดเพื่อเร่งจำหน่าย ซึ่งเป็นการทำลายตลาดทุเรียนในภาพรวม ส่งผลกระทบทำให้ราคาทุเรียนทั้งตลาดภายในและต่างประเทศมีราคาตกต่ำ เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อทุเรียนไทย จึงได้มีการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรที่เกี่ยวกับการปฏิบัติที่ดี

สำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทุเรียนเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อควบคุมกำกับดูแลปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) และช่วยสนับสนุนการจำหน่ายผลทุเรียนที่แก่ มีคุณภาพตามมาตรฐาน สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคและเวทีการค้า ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพของทุเรียน ไทยเพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลก

2. องุ่น ซึ่งในปี 64 ประเทศไทยมีการนำเข้าองุ่นสด ปริมาณ 1.02 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 5,683 ล้านบาท และองุ่นเป็นไม้ผลที่เกษตรกรไทยนิยมปลูกกันมาก มีพื้นที่ปลูกองุ่น รวมทั้งสิ้น 5,517.10 ไร่ ผลผลิตรวม 4,189.40 ตัน และผลผลิตต่อไร่ 1,809.48 กิโลกรัม นอกจากจะจำหน่ายในประเทศแล้ว ยังสามารถส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน เช่น ลาว เป็นต้น

ดังนั้น จึงควรจัดทำมาตรฐานองุ่นของประเทศ เพื่อเป็นเกณฑ์ทางการค้า และสนับสนุนให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพของผลิตผล โดยมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ จะครอบคลุมข้อกำหนดด้านคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับองุ่น (table grapes) ที่มีการจัดเตรียม และบรรจุหีบห่อ ไม่รวมองุ่นที่ใช้แปรรูปอุตสาหกรรม

3. เห็ดหูหนูขาวแห้ง เป็นเห็ดเศรษฐกิจที่มีการซื้อขายมากติดอันดับโลก คนไทยนิยมบริโภคเห็ดหูหนูขาวแบบแห้ง เนื่องจากเก็บรักษาไว้ได้นาน เห็ดหูหนูขาวแห้งที่จำหน่ายในประเทศต้องนำเข้าเป็นมูลค่าสูงมาก โดยในปี 63 นำเข้าเห็ดหูหนูขาวแห้ง มูลค่า 488 ล้านบาท

ทั้งนี้ แม้ว่าเห็ดหูหนูขาวแห้งจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะปนเปื้อนอันตรายแฝงมา เพื่อให้มีเกณฑ์คุณภาพมาตรฐานที่ชัดเจน จึงเห็นควรจัดทำมาตรฐานเห็ดหูหนูขาวแห้งของไทย เพื่อใช้ตรวจสอบรับรองคุณภาพเห็ดหูหนูขาวแห้งที่มีจำหน่ายในประเทศ รวมถึงใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงทางการค้า โดยใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรกับเห็ดหูหนูขาวแห้ง (dried white jelly mushroom) ตามนิยามผลิตภัณฑ์ที่บรรจุเพื่อจำหน่าย สำหรับนำไปปรุงอาหารหรือแปรรูปเป็นอาหาร

4. บรอกโคลี เป็นผักที่จัดอยู่ในกลุ่มของผักตระกูลกะหล่ำที่มีการนำเข้าและมีการขยายพื้นที่ปลูกในประเทศมากขึ้น โดยในปี 64 มีพื้นที่ปลูกบรอกโคลี 175.5 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 181.35 ตัน และผลผลิตต่อไร่ 1,495 กิโลกรัม ทั้งนี้ มีการนำเข้าบรอกโคลี 21,475 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 459 ล้านบาท ในปี 59 คณะทำงานจัดทำมาตรฐานอาเซียนสำหรับผลิตผลพืชสวนและพืชอาหารอื่นๆ ได้ประกาศมาตรฐานอาเซียน เรื่อง บรอกโคลี

ดังนั้น ไทยจึงควรมีการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง บรอกโคลี เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียน สำหรับใช้ส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับประเทศ โดยใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร ใช้กับหัว (ส่วนที่เป็นกลุ่มช่อดอกและลำต้น) ของบรอกโคลีประเภทหัว (heading type)/พันธุ์ที่ผลิตเป็นการค้า เพื่อจำหน่ายในรูปผลิตผลสดแก่ผู้บริโภค ไม่รวมบรอกโคลีที่ใช้แปรรูปในอุตสาหกรรม

5. การปฏิบัติที่ดีสำหรับลานเททะลายปาล์มน้ำมัน มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับลานเททะลายปาล์มน้ำมัน (มกษ. 9037-2555) มีการประกาศใช้เมื่อ พ.ศ.2555 สำหรับนำไปใช้ควบคุมกระบวนการจัดการของลานเททะลายปาล์มน้ำมันให้มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม

ทั้งนี้ คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นควรให้มีการทบทวนมาตรฐานฉบับดังกล่าว เพื่อให้การปฏิบัติของลานเททะลายปาล์มน้ำมันสอดคล้องกับการปฏิบัติในปัจจุบัน และปรับปรุงข้อกำหนดให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

6. การชันสูตรโรคนิวคาสเซิล เป็นโรคระบาดสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และเป็นโรคที่อยู่ในบัญชีรายชื่อโรคระบาดสัตว์บกขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organization for Animal Health: WOAH) ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีกของประเทศ ตลอดจนเกิดปัญหาการส่งออก ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญ โดยมาตรฐานสินค้านี้ กำหนดการชันสูตรโรคนิวคาสเซิล ครอบคลุมตั้งแต่การเก็บตัวอย่าง การรักษาตัวอย่าง เพื่อการชันสูตร การตรวจหาและจำแนกเชื้อ รวมถึงการตรวจการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.ryt9.com/s/iq01/3376783