ค้นหา

วช.หนุนวิจัย นวัตกรรมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสับปะรดปัตตาเวียและบรรจุภัณฑ์จากของเหลือทิ้งทางการเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่ม

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เข้าชม 659 ครั้ง

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้การสนับสนุนทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในการผลิตคิดค้นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสับปะรดปัตตาเวียและบรรจุภัณฑ์จากของเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำในฤดูการเก็บผลผลิตโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่การปลูกสับปะรดแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ

นอกจากนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้ผู้ค้าสับปะรดต่างจังหวัดไม่เข้ามารับซื้อสับปะรดในจังหวัดระยอง ทำให้ปริมาณสับปะรดเกินความต้องการของโรงงานแปรรูปในพื้นที่ อีกทั้งโรงงานยังประสบปัญหาการส่งออกต่างประเทศ จึงได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารฟังก์ชันมาประยุกต์ใช้ เสริมศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านที่มีอยู่เดิม พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ขณะเดียวกันคณะผู้วิจัยยังมีแนวทางการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นแนวทางหนึ่งในการลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมการทำการเกษตรของชุมชน โดยการนำใบสับปะรดมาผลิตเป็นกระดาษ ภาชนะ และบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถนำไปสร้างรายได้ เพื่อเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของชุมชนตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่ากลไกสำคัญที่ช่วยพยุงราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คือ การนำมาทำผลิตภัณฑ์แปรรูปโดยใช้องค์ความรู้ด้านคุณค่าทางอาหารมาช่วยเสริมศักยภาพการสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูป ซึ่งสอดคล้องกับนวัตกรรมของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่ได้เล็งเห็นคุณค่าทางโภชนาการของสับปะรดปัตตาเวีย ในจังหวัดระยอง มาพัฒนาเป็นสินค้าแปรรูปสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยการสร้างศูนย์การเรียนรู้ขึ้นในชุมชนมีการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการตลาด การสร้างตราสินค้า การทำตลาดออนไลน์ เพื่อให้ธุรกิจชุมชนสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง ยกระดับรายได้ครัวเรือน ให้เศรษฐกิจของชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดร.พลอยทราย โอฮาม่า อาจารย์จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่าได้ร่วมกับ ผศ.ดร.จิตรลดา ชูมี ดร.เสาวณีย์ คำพันธ์ และผศ.ดร.รินรดา พัฒนใหญ่ยิ่ง ในการคิดค้นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แปรรูปสับปะรดปัตตาเวีย และบรรจุภัณฑ์จากใบสับปะรดเหลือทิ้ง โดยผลจากการวิจัยพบว่าสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย จัดเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีน้ำตาลซึ่งเป็นแหล่งพลังงาน วิตามิน และแร่ธาตุหลายชนิด

นอกจากนี้ยังมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น สารประกอบฟีนอลิกและเบต้าแคโรทีน ซึ่งจัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดไขมันส่วนเกินและคอเลสเตอรอล จึงได้นำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี และคุณค่าทางอาหารมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์แปรรูป อาทิ ไซรัปสับปะรด คีเฟอร์น้ำสับปะรด

ขณะเดียวกันเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าตามแนวคิด zero-waste หรือ “ของเสียเหลือศูนย์” ทีมวิจัยยังได้นำวัตถุดิบที่เหลือจากกระบวนการทำไซรัป มาต่อยอดแปรรูปเป็นแยมสับปะรด และคุกกี้ไฟเบอร์สับปะรด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับ food waste โดยเฉพาะแกนสับปะรดที่ปกติชาวบ้านจะทิ้งไปในกระบวนการแปรรูปนี้มีเอนไซม์โบรมีเลน ซึ่งมีสมบัติช่วยย่อยอาหาร เพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ซึ่งผลิตภัณฑ์ชุมชนเหล่านี้ใช้วัตถุดิบธรรมชาติล้วน และไม่ใส่วัตถุกันเสีย ​

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังนำน้ำสับปะรดมาพัฒนาเป็นเครื่องดื่ม “คอมบูชา” ที่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ มีส่วนช่วยรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย เป็นเครื่องดื่มสุขภาพที่กำลังอยู่ในกระแสนิยมของผู้บริโภคปัจจุบัน สร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน

สำหรับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ได้แก่ เปลือกมะพร้าว ชานอ้อย ฟางข้าว ทางทีมวิจัยได้มีการนำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี มาพัฒนาประยุกต์ผลิตกระดาษจากใยสับปะรด ซึ่งพบว่ากระดาษสับปะรดมีคุณสมบัติพิเศษคือมีความนุ่มเหนียว และทำได้บางกว่ากระดาษจากใยพืชชนิดอื่น ๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานคราฟต์ และงานหัตถกรรมได้ดี และเมื่อนำไปอัดด้วยความร้อนจะได้เป็นภาชนะและบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วนแนวทางในการขยายผลต่อยอดซึ่งขณะนี้พื้นที่เป้าหมายในจังหวัดระยองที่กลุ่มเกษตรกรได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมสินค้าชุมชนจากผลิตภัณฑ์สับปะรดแปรรูปนี้คือ กลุ่มเกษตรกรทำไร่สับปะรดพนานิคม อำเภอนิคมพัฒนา กลุ่มเกษตรกรปลูกสับปะรดทางเกวียนอำเภอแกลง และวิสาหกิจชุมชนไร่บ้านอ้อ อำเภอปลวกแดง ซึ่งนอกจากจะช่วยยกฐานะเศรษฐกิจฐานรากแล้ว ยังมีการพัฒนาในเชิงพาณิชย์โดยร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดระยอง และสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง ที่จะนำแผนงาน องค์ความรู้ ผลสำเร็จของงานไปใช้ประโยชน์ในการสร้างนโยบายในด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตทางการเกษตรด้วยนวัตกรรม และการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรตามนโยบาย BCG ก่อให้เกิดการลงทุน ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน และการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.agrinewsthai.com/agricultural-technology/41538