ค้นหา

สหกรณ์โคเนื้อวากิว สุรินทร์ รวมกลุ่มสู้นายฮ้อยเอาเปรียบ

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 662 ครั้ง

เนื้อวากิวเป็นอีกเมนูเด็ด ต้อนรับผู้นำในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

โคเนื้อวากิวนิยมเลี้ยงกันในแถบอีสานใต้โดยเฉพาะ จ.สุรินทร์ ถือเป็นถิ่นโคเนื้อวากิวที่ชาวบ้านมีการเลี้ยงเป็นอาชีพอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนสามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

สหกรณ์โคเนื้อวากิว สุรินทร์ รวมกลุ่มสู้นายฮ้อยเอาเปรียบ

สหกรณ์โคเนื้อสุรินทร์วากิวยางสว่าง จำกัด ต.ยางสว่าง อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ เป็นหนึ่งในสหกรณ์ที่ประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงโคเนื้อวากิว ซึ่งเป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างวากิวญี่ปุ่นกับวัวพื้นเมือง

“เมื่อก่อนชาวบ้านที่นี่นิยมเลี้ยงกระบือเป็นอาชีพ และ อ.รัตนบุรีเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงกระบือมากที่สุดของ จ.สุรินทร์ แต่มาช่วงหลังวิถีการทำนาของชาวบ้านเปลี่ยนไป ไม่ต้องใช้กระบือไถนาอีกต่อไป การเลี้ยงกระบือเลยเริ่มหายไป ชาวบ้านเลยหันมาเลี้ยงโคพื้นเมือง แต่เลี้ยงแล้วขายไม่ได้ราคาเท่าที่ควร เพราะโคพื้นเมืองที่เอามาเลี้ยงมีรูปร่างแคระแกร็น เลี้ยงยากโตช้า จึงมีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มและหาวิธีการอบรมศึกษาองค์ความรู้กับปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ เพื่อหาแนวทางปรับเปลี่ยนพันธุ์โค โดยเอาแม่พันธุ์โคพื้นเมืองมาผสมพ่อพันธุ์โค อย่างบรามัน ชาโลเล่ แองกัส และวากิว ปรับเปลี่ยนโคลูกผสมให้มีคุณภาพดี น้ำหนักเยอะ โตไว เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งขายได้ราคาดีกว่าโคพันธุ์พื้นเมือง

ปรากฏว่า ชาวบ้านนิยมเลี้ยงโคลูกผสมวากิวมากกว่า เพราะได้ราคาดีกว่าวัวพันธุ์อื่น ถ้าเป็นวัวพันธุ์พื้นเมืองทั่วไปจะได้ราคา กก.ละ 80-90 บาท แต่ถ้าเป็นพันธุ์บรามัน ชาโลเล่ กก.ละ 100-110 บาท ส่วนวากิว 130-140 บาท เลยเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านหันมาเลี้ยงวากิว”

นายเรืองศักดิ์ สีตะริสุ ประธานกรรมการสหกรณ์โคเนื้อสุรินทร์วากิวยางสว่าง จำกัด เล่าต่อถึงความเป็นมาของการเลี้ยงโคลูกผสมวากิวในพื้นที่…แต่ด้วยการเลี้ยงแบบชาวบ้าน เลี้ยงแบบต่างคนต่างเลี้ยง ต่างคนต่างขาย ทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าหรือนายฮ้อย ชาวบ้านแข่งขายตัดราคากัน เกษตรกรถูกเอาเปรียบ

ปี 2558 จึงมีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์ขึ้นมาภายใต้ชื่อ สหกรณ์โคเนื้อสุรินทร์วากิวยางสว่าง จำกัด ปัจจุบันมีสมาชิก 110 ราย โดยมีทุนดำเนินงาน 3.5 ล้านบาท

ที่เริ่มต้นด้วยการจัดระบบการเลี้ยงโควากิวใหม่ โดยให้สมาชิกเลี้ยงแม่พันธุ์โคลูกผสม ไว้ แล้วทางสหกรณ์จะเป็นผู้จัดหาน้ำพ่อพันธุ์วากิว มาผสมพันธุ์กับแม่โคของสมาชิก

และเมื่อตกลูกออกมา ถ้าเป็นตัวเมีย สหกรณ์จะให้สมาชิกเลี้ยงต่อไป เพื่อเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์สำหรับผลิตโคเนื้อวากิวในรุ่นถัดไป

สหกรณ์โคเนื้อวากิว สุรินทร์ รวมกลุ่มสู้นายฮ้อยเอาเปรียบ

แต่ถ้าลูกที่ออกมาเป็นตัวผู้ จะปล่อยให้สมาชิกเลี้ยงต่อไปอีก 8-12 เดือน จนได้ น้ำหนัก 180-300 กก. สหกรณ์จะรับซื้อมาขุนต่อในราคา กก.ละ 110-130 บาท โดยสมาชิกจะได้กำไรจากการขายโคให้สหกรณ์ประมาณตัวละ 5,000-6,000 บาท

“เราต้องซื้อโคจากสมาชิก ขุนเอง เพราะต้นทุนการขุนเลี้ยงใช้ต้นทุนสูงมาก เนื่องจากต้องใช้อาหารอัดเข้าไปเยอะ สมาชิกสู้ไม่ไหว สหกรณ์เลยเข้ามารับภาระตรงนี้ที่มีศักยภาพมากกว่า ทำให้สหกรณ์มีรายได้จากส่วนต่างตรงนี้”

ประธานกรรมการสหกรณ์โคเนื้อสุรินทร์วากิวยางสว่าง บอกถึงวิธีการขุนว่า จะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน เพื่อขุนโคที่ซื้อมาจากสมาชิกให้ได้น้ำหนัก 500-600 กิโลกรัม แต่ส่วนมากแล้วจะขุนโคให้ได้น้ำหนักอยู่ที่ 390–400 กิโลกรัม ตามที่ลูกค้าต้องการ

สำหรับอาหารที่ใช้ในการขุนโคขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการที่มารับซื้อโค ทางลูกค้าจะเป็นผู้คิดสูตรอาหารและส่งให้กับสหกรณ์เอง เพื่อให้เนื้อของโคเป็นไปตามที่ผู้ประกอบการต้องการ

สหกรณ์โคเนื้อวากิว สุรินทร์ รวมกลุ่มสู้นายฮ้อยเอาเปรียบ

โดยรวมแล้วอาหารที่ใช้ขุนโคจะเป็นอาหารข้นที่ประกอบด้วย โปรตีน ฟางข้าวหอมมะลิ หญ้าหมัก แต่จะไม่ให้โคกินหญ้าสด เพราะจะทำให้เนื้อโคมีกลิ่นสาบ นอกจากนี้ ทางสหกรณ์ยังมีรายได้จากการส่งขายโคให้สหกรณ์เครือข่ายเพื่อนำโคไปขุนต่อ ในราคาตัวละประมาณ 30,000 บาท

ปัจจุบันสหกรณ์โคเนื้อสุรินทร์วากิวยางสว่าง จำกัด มีโคเนื้อวากิวอยู่ 600 ตัว เป็นแม่พันธุ์ 80ตัว มีศักยภาพในการผลิตจำหน่ายโคเนื้อลูกผสมวากิว เจเนอเรชันที่ 5 เฉลี่ยเดือนละ 10-15 ตัว แม้กิจการนี้ใช้ต้นทุนและเวลาที่ค่อนข้างนาน แต่กำไรที่ได้มาสามารถหล่อเลี้ยงชีวิตของทั้งเกษตรกร ชาวบ้าน และสมาชิกได้

การรวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งสหกรณ์โคเนื้อสุรินทร์วากิวยางสว่าง จึงช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน ต.ยางสว่าง อีกด้วย.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/2569898