ไทยประกาศความสำเร็จโครงการข้าวลดโลกร้อน ความร่วมมือไทย-เยอรมนี ช่วยให้ภาคเกษตรไทยสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 915,053 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ได้วิทยากรหลักและวิทยากรเกษตรกรมากกว่า 30,000 คน ผ่านการฝึกอบรมผลิตข้าวยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนแนวปฏิบัติอย่างยั่งยืนในการผลิตข้าวตามมาตรฐานสากล
นายกฤต อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมการข้าว จากการที่ภาคเกษตรไทย โดยเฉพาะการทำนาแบบดั้งเดิม ด้วยการขังน้ำในแปลงนาเป็นเวลานานส่งผลให้เกิดปฏิกิริยา ทำให้ก๊าซมีเทนถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 55% ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า
“แต่หลังจากมีโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมนี ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรกรรม ที่เน้นสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ อันประกอบด้วย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการข้าว สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญให้กับนักวิจัยด้านข้าวในการนำเทคโนโลยีมาใช้ และเรียนรู้วิธีการการตรวจวัด และการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติผ่านการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับพัฒนาศักยภาพการวิจัยระบบการพัฒนาระบบการตรวจวัด รายงานและทวนสอบหรือ MRV จัดเก็บข้อมูลในรูปแบบบิ๊กดาต้า และติดตามความก้าวหน้าของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว และนำมาสู่การพัฒนาคู่มือการจัดทำระบบ MRV ภาคข้าวเพื่อเป็น แนวทางส่งต่อการพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรในภาคเกษตรรุ่นใหม่”
รองอธิบดีกรมการข้าวเผยอีกว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีของการดำเนินโครงการ ตั้งแต่ปี 2561-2565 มีเกษตรกรและเจ้าหน้าที่จากภาคส่วนการเกษตรทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคเข้ารับการฝึกอบรมถึง 30,389 ราย ใน 6 จ.นำร่อง ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี เพื่อขับเคลื่อนแนวปฏิบัติอย่างยั่งยืนในการผลิตข้าวตามมาตรฐานสากล
นอกจากนี้ ทางโครงการยังได้ส่งมอบเครื่องก๊าซโครมาโตกราฟ สำหรับวิเคราะห์ปริมาณการปล่อยก๊าซ 4 เครื่อง เพื่อติดตั้ง ณ สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ศูนย์วิจัยข้าวในจังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ปราจีนบุรี ชัยนาท และอุบลราชธานี ทำให้ทราบว่าผลลัพธ์ของโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมนี ช่วยให้ภาคเกษตรไทยสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 915,053 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า.